อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ โชว์เคส บทพิสูจน์ ความร่วมมือไม่ง่าย...แต่เป็นไปได้ กระตุ้น คนไทยร่วมสร้างพื้นที่สุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยงเยาวชน
อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ โชว์เคส บทพิสูจน์ ความร่วมมือไม่ง่าย...แต่เป็
กระตุ้น คนไทยร่วมสร้างพื้นที่สุ
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมโลกเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว สื่อโซเชียลมีเดีย เติบโตเกินกว่าใครจะคาดคิด และ มีอิทธิพลในชีวิตของคนในสังคมอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ที่ตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ ทำให้ปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นโจทย์ยาก แต่วันนี้มีบทพิสูจน์แล้วว่า ความร่วมมือไม่ง่าย...แต่เป็นไปได้
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง Imagine Thailand Movement และผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ กล่าวว่า การเติบโตของโซเซียลมีเดีย ทำให้เกิดช่องว่างคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ อย่างมากมาย และทำให้ปัจจัยเสี่ยงเข้าถึงตัวเยาวชนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะแก้ไขหรือรับมือกับปัญหาเหล่านี้จะปล่อยให้เป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งไม่ได้ ต้องมีการสร้างความร่วมมือของหลายฝ่าย เพราะเป็นปัญหา เชิงระบบที่มีความสลับซับซ้อน อย่างไรก็ตามการสร้างความร่วมมือเป็นสิ่งใหม่ ที่จะต้องมีทักษะ มีพื้นที่ทางสังคม จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนารูปแบบความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน สุขภาวะที่ดีของเยาวชนไทย
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี การขับเคลื่อน ได้มีการทำงานร่วมกับภาคเครือข่ายของ สสส. ทั้งที่ทำเรื่องปัญหา ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ห้องปฏิบัติการทางสังคม Social Lab ในการหลอมรวมความคิดให้แต่ละภาคีได้เห็นโอกาสที่จะมาทำงานร่วมกัน ซึ่งจากเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาสุขภาวะให้เยาวชน ทำให้เกิดนวัตกรรมความร่วมมือขึ้นในหลายพื้นที่ โดยล่าสุด ในเวทีสาธารณะ Social Lab ภายใต้โครงการพัฒนารูปแบบความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดีของเยาวชนไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการนำเสนอ 3 กรณีศึกษาต้นแบบความร่วมมือ “การสร้างความร่วมมือไม่ง่าย...แต่เป็นไปได้”
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก และ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเจอปัญหารุมเร้ามากมาย ที่ผ่านมาสังคมอาจจะมองว่าบทบาทของสสส. คือ องค์กรที่ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในปัจจุบันแนวคิดนี้ไม่สามารถใช้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ได้แล้ว ซึ่งการทำงานของ สสส. ตลอด 20 ปี สิ่งที่เน้นหนัก คือ พยายามชักชวนให้ยอมรับว่า สิ่งเหล่านี้จะสร้างให้เกิดปัญหา โดยทำงานแบบหาแนวร่วมในรูปแบบภาคีเครือข่าย จนได้แกนนำภาคีเครือข่ายเลิกเหล้าเลิกบุหรี่นับพันคน ถือ เป็นจุดเริ่มต้นของพลังความร่วมมือ โดย สสส. บอกตัวเองว่า เป็นผู้ประนีประนอม เปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายที่มีความหลากหลายเดินหน้าทำงานไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งเป็นที่น่าดีใจที่โครงการนี้สามารถดึงภาคีต่างๆ มาทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนไทยแข็งแรง มีต้นทุนที่ดี ลด ละ เลิก ปัญหาที่รุมเร้าถือว่าเป็นความสำเร็จเบื้องต้น ที่หากได้มีการสื่อสารออกไปก็จะเป็นต้นแบบให้ที่อื่นได้ทำ
“ป้ามล” ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก หนึ่งในผู้นำคนสำคัญ ได้แชร์ประสบการณ์ในเวทีสาธารณะ กล่าวว่า ผู้ใหญ่กำลังรณรงค์เพื่อเด็กและเยาวชนอย่างเข้มข้น แต่นักสูบหน้าใหม่ นักดื่มหน้าใหม่ เด็กซิ่งมอเตอร์ไซค์ก็ยังเกิดขึ้นตลอด ชีวิตเด็กยังหายไปกับสิ่งเหล่านี้ ป้าเคยถามเด็กว่า หนูไม่กลัวกันเหรอลูกที่ผู้ใหญ่เขาลงทุนกันน่าดูเลย เช่น ใส่ภาพน่ากลัวบนซองบุหรี่ เด็กตอบว่า ไม่กลัวครับ ไม่กลัวนิโคติน ไม่กลัวความตายในอนาคต ผมกลัวความตายในปัจจุบัน กลัวการไม่มีเพื่อน กลัวไม่ถูกยอมรับ
“พวกเราหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า ถึงทำให้เด็กหิวสิ่งเหล่านี้ขนาดนั้น ความรักและปรารถนาดีของเราที่เป็นทั้งโอกาสและปัญหา มันไม่ได้ช่วยเลย ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราทุกคนเคยผ่านการเป็นเด็กมาแล้วทั้งสิ้น แต่เด็กทุกคนไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มาก่อน ยังดีที่ประเทศนี้ยังมีดอกไม้อย่างพวกเราอยู่ ช่วยยันเด็ก ๆ เอาไว้ ถ้าไม่มีพวกเราจะแย่กว่านี้” ป้ามลกล่าว
ภายใต้โครงการดังกล่าวก่อเกิดตัวอย่างการสร้างความร่วมมือไม่ง่าย แต่เป็นไปได้ ใน 3 พื้นที่สำคัญ คือ ชุมชนลุมพลี จ.พระนครศรีอยุธยา จากภาพจำพื้นที่ไข่แดง อยุธยา ที่เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด ผู้นำชุมชน ผนึกกำลังคนในชุมชนพัฒนาสู่เมืองท่องเที่ยวย้อนรอยประวัติศาสตร์ โดย Imagine Thailand Movementภาคีเครือข่าย สสส. สำนักงาน ปปส.ภาค1 เครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายองค์กร งดเหล้า เครือข่ายเพื่อความปลอดภัยทางถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมมือกันลงพื้นที่ ทั้งให้ความรู้ ให้กำลังใจ ชวนโรงเรียน ผู้นำชุมชน แกนนำชุมชน และเยาวชนมาร่วมคิดร่วมกันทำ สู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ใช้โอกาสข้ามวิกฤติ นำต้นทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ออกมาสร้างลุมพลีปลอดภัย น่าอยู่น่าเที่ยว เยาวชนอบอุ่น ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง
โครงการเสน่ห์...รอยร้าว ภายใต้มูลนิธิละครธรรมะ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และ โรงเรียนภัทราวดีหัวหิน ของคุณครูเล็ก “ภัทราวดี มีชูธน” จากประสบการณ์ และกำลังใจ จากเพื่อนภาคี ใน Social Lab และ Imagine Thailand Movement ที่มาเติมเต็มและหนุนเสริม ทำให้คุณครูเล็ก เดินหน้าใช้ศิลปะศาสตร์ที่เป็นความเชี่ยวชาญ พัฒนาศักยภาพเด็กก้าวพลาด เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทันที โดยเริ่มจาก โปรเจคละครชีวิตคอนเสิร์ตออนทัวร์ “เสน่ห์...รอยร้าว” The Broken Violin มีความร่วมมือจากหลายส่วน โดยเฉพาะ “ป้ามล” เพื่อนำเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก มาฝึกทักษะและร่วมเล่นละคร และเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ลานสเก็ตบอร์ดที่โรงเรียนขยายการขับเคลื่อนเชื่อมภาคีใหม่ๆให้มาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง
“ความสลับซับซ้อนของรากปัญหา ทั้งการเลี้ยงดูที่ผิดๆ เด็กจำนวนไม่น้อยจึงก้าวพลาด และยิ่งถลำลึกหากสังคมไม่ให้โอกาส ต้องขอบคุณพันธมิตรหลายคนที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน เราต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นเขาได้เห็น ได้ยื่นมือมาร่วมสนับสนุน เราบ้าง อย่าไปปิดกั้นหรือมองข้ามดอกไม้เล็กๆ” คุณครูเล็ก กล่าว
ปิดท้ายที่ โครงการปลุกเสกสามเณรสุขภาวะ จ.เชียงใหม่ ด้วยตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยง ที่เกิดขึ้นกับสามเณร ซึ่งถือเป็นเยาวชนเช่นกัน จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง พระสงฆ์กับฆาราวาส โดยดร.พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และผู้นำการขับเคลื่อนโครงการวัดปลอดบุหรี่ในภาคเหนือ ร่วมกับเครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ Quitline1600 ในการออกแบบหลักสูตรพัฒนาพระแกนนำ ขยายสู่การตั้งศูนย์การเรียนรู้หรือศูนย์การเลิกบุหรี่ และร่วมกับโรงเรียนพระปริยัติธรรมในภาคเหนือหลายพื้นที่ พัฒนาให้เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ ให้ความรู้สามเณรเรื่องพิษภัยบุหรี่ อบายมุขต่างๆ และมีการบูรณาการเข้ากับวิชาต่างๆ เพื่อจุดประกายให้สามเณรมีส่วนร่วมผลิตสื่อรณรงค์ ส่งผลทำให้มีการสูบบุหรี่ในวัดลดลง
“การทำงานสร้างความร่วมมือแต่ละครั้งล้วนพบข้อจำกัดและอุปสรรคมากมาย แต่ถ้ามีกำลังใจหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลง และความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้จริง หัวใจสำคัญ คือ เมื่อคิดแล้วต้องลงมือทำ เมื่อไหร่ก็ตามที่เป้าหมายมีคุณค่าเพียงพอจะสามารถดึงดูดคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงให้หันหน้าเข้ามาหากัน จะเกิดกระบวนการเข้าไปหนุนเสริม ช่วยทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย ที่ทุกคนสามารถทำงานร่วมกับคนอื่น เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม Generative Social Field ที่คนในแต่ละชุมชนสามารถ มาแชร์เส้นทางเรียนรู้และประสบการณ์ เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือที่หลากหลายได้จริง” ดร.อุดม กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ได้ทาง Facebook Page: Imagine Thailand Movement : https://www.facebook.com/imaginethailandmovement และ Website imaginethailandmovemen : https://www.imaginethailandmovement.com
No comments