อินโดรามา เวนเจอร์ส รายงานผลประกอบการ
ไตรมาส 2 ปี 2567 ที่คงเสถียรภาพ
ด้วยแรงหนุนจากปริมาณขายที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อย
เป็นค่อยไป
และความก้าวหน้าในการดำเนินกลยุทธ์ IVL 2.0
สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2567
- ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบปีต่อปี เท่ากับ 3.64 ล้านตัน
- Adjusted EBITDA เท่ากับ 370 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบปีต่อปี
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเท่ากับ 494 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 168 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และร้อยละ -1 เมื่อเทียบปีต่อปี
- สัดส่วนหนี้สินจากการดำเนินงานสุทธิต่อ Adjusted EBITDA เท่ากับ 3.97 เท่า
- กำไรต่อหุ้นเท่ากับ -4.13 บาท และ กำไรหลักต่อหุ้น (ปรับปรุง) เท่ากับ 0.18
กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 9 สิงหาคม 2567 – บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาสที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณขายที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจากการที่ฝ่ายบริหารดำเนินการตามกลยุทธ์ IVL 2.0 ของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
อินโดรามา เวนเจอร์ส มี Adjusted EBITDA เท่ากับ 370 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบปีต่อปี ปริมาณขายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซา แต่ยังมีสัญญาณสิ้นสุดของช่วงเวลาการระบายสต็อกที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 อัตราการผลิตในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 74 เป็นร้อยละ 76 หรือร้อยละ 81 หากนำผลของการปรับปรุงสินทรัพย์มาพิจารณาร่วมด้วย แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตก็ตาม ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
กลุ่มธุรกิจ Indovinya มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากส่วนต่างกำไรที่ปรับเพิ่มขึ้นและอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Indovida ก็มีผลการดำเนินงานที่ดีเช่นกัน เนื่องจากมีฐานการผลิตชั้นนำในตลาดเกิดใหม่
เมื่อมองไปข้างหน้า อินโดรามา เวนเจอร์ส มีแรงหนุนจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากระดับสินค้าคงคลังของลูกค้าที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นให้ปริมาณขายของทุกกลุ่มธุรกิจเติบโตขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับประโยชน์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากข้อได้เปรียบของ Shale Gas ในประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นได้จากส่วนต่างกำไรสำหรับโรงกลั่นเอทิลีน (ethylene) ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจ MEG แบบบูรณาการของบริษัท นอกจากนี้ ราคาสินค้านำเข้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในตลาดตะวันตก ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ในฐานะผู้ประกอบการชั้นนำในภูมิภาค
ขณะที่อุตสาหกรรมโพลีเอสเตอร์กำลังเผชิญกับภาวะขาลง ทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ของอินโดรามา เวนเจอร์ส กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อลดภาระหนี้และเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ IVL 2.0 ของบริษัทฯ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและขับเคลื่อนคุณภาพของรายได้ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตามที่ได้ระบุไว้ในงาน Capital Markets Day เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ของปีนี้ และยืนยันอีกครั้งในรายงานความคืบหน้าช่วงกลางปี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม บริษัทฯ มีความคืบหน้าอย่างมากสำหรับการดำเนินกลยุทธ์ IVL 2.0 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 โดยได้บันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์และตั้งสำรองค่าใช้จ่ายจำนวน 666 ล้านเหรียญสหรัฐ (ซึ่งจำนวน 543 ล้านเหรียญสหรัฐไม่ใช่เงินสด) ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสินทรัพย์เพื่อปรับปรุงการผลิตและลดค่าใช้จ่ายคงที่ ซึ่งจะเห็นผลลัพธ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เป็นการประหยัดต้นทุนได้จำนวน 170 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสินทรัพย์ที่เหลือจะไม่ก่อให้เกิดการด้อยค่าที่เป็นสาระสำคัญ
ฝ่ายบริหารยังคงมุ่งมั่นในการจัดการต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงโครงการ Olympus 2.0 โดยความพยายามเหล่านี้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในครึ่งแรกของปี 2567 (29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 2 ปี 2567) บริษัทฯ ยังคงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยลงทุนในโครงการที่สนับสนุนด้านความยั่งยืน อาทิ โรงงานรีไซเคิลในอินเดีย ระบบทำงานอัตโนมัติ เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการ
ส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของอินโดรามา เวนเจอร์ส คือการนำเครื่องมือดิจิทัลและ AI ใหม่ๆ มาใช้เพื่อขับเคลื่อนความเป็นเลิศในการดำเนินงานในด้านหลักๆ ซึ่งรวมถึงการผลิต การพาณิชย์ การจัดซื้อ การขาย การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และการเงิน ปัจจุบัน ส่วนสำคัญๆ ในการดำเนินงานมีแพลตฟอร์มบริหารทรัพยากรทั่วทั้งองค์กร SAP S/4HANA เป็นแกนกลางทางดิจิทัล ขณะเดียวกันจะมีการนำตัวโซลูชั่นชั้นนำระดับโลกอื่นๆ มาปรับใช้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนไปจนถึงปี 2569
นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฯ อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกอย่างระมัดระวังจากการที่เราเห็นการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในสภาพแวดล้อมการดำเนินงานของอุตสาหกรรมของเราแม้ว่าจะยังคงมีความท้าทายที่สำคัญที่ยังคงดำเนินไปตลอดวัฏจักร ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา เราได้สร้างเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในองค์กรของเรา รวมถึงการเสริมสร้างทีมผู้นำของเราและมอบอำนาจให้พวกเขาในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่างๆ ภายใต้กลยุทธ์ IVL 2.0 ของเรา ซึ่งมีเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน และไม่เพียงแต่ช่วยให้เราจัดการกับภาวะชะลอตัวในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังช่วยเตรียมอินโดรามา เวนเจอร์ส ให้พร้อมสำหรับยุคใหม่ของการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย”
ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจ Combined PET (CPET) ซึ่งรวมถึงเคมีภัณฑ์กลางน้ำ มี Adjusted EBITDA เท่ากับ 234 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และลดลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบปีต่อปี เนื่องมาผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากโครงการ NDC ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 และการลดลงของสเปรดอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ Integrated PET นอกจากนี้ การหยุดดำเนินการของโรงกลั่นที่ Lake Charles ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังส่งผลกระทบต่อ EBITDA ประมาณ 17-18 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะค่อยๆ กลับมาดำเนินงานได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567
กลุ่มธุรกิจ Indovinya มี Adjusted EBITDA ที่แข็งแกร่งเท่ากับ 98 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเพิ่มขึ้นร้อยละ 85 เมื่อเทียบปีต่อปี สาเหตุหลักมาจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นหลังจากการระบายสต็อกที่ผ่อนคลายลง โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของสารลดแรงตึงผิวเคมีภัณฑ์ปลายน้ำท่ามกลางฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับกลุ่มธุรกิจ Fibers รายงาน Adjusted EBITDA เท่ากับ 39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบปีต่อปี ด้วยกลยุทธ์การขายที่พัฒนาขึ้น และการมุ่งบริหารจัดการต้นทุนอย่างรอบด้าน แม้ว่าปริมาณการขายจะลดลง โดยเฉพาะในธุรกิจไลฟ์สไตล์
เกี่ยวกับ อินโดรามา เวนเจอร์ส
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Bloomberg ticker IVL.TB) เป็นหนึ่งในบริษทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มีโรงงานผลิตครอบคลุมภูมิภาคหลักทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป แอฟริกา อเมริกา และเอเชียแปซิฟิก โดยมีกลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจ Combined PET ธุรกิจ Fibers และ Indovinya (เดิมคือ Integrated Oxides and Derivatives) ผลิตภัณฑ์ของอินโดรามา เวนเจอร์ส รองรับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม ไลฟ์สไตล์ และยานยนต์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์ยางในรถ และผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัย ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั่วโลกราว 26,000 คนและมีรายได้จากการขายรวม 15.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 บริษัทฯ เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ระดับโลก (DJSI World) และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets)
No comments