Header Ads

แรงบันดาลใจจากนักสะสมระดับโลก สู่การ ประมูลและนิทรรศการศิลปะสุดพิเศษ “The Collector Club”


 แรงบันดาลใจจากนักสะสมระดับโลก สู่การ

ประมูลและนิทรรศการศิลปะสุดพิเศษ

“The Collector Club”


เตรียมพบกับ “The Collector Club” การประมูลและนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะครั้งใหม่ของ The Art Auction Center บริษัทประมูลศิลปะอันดับ 1 ของไทย 

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ The Collector Club สโมสรสุดเอ็กซ์คลูซีฟของผู้ที่รักและหลงใหลในงานศิลปะและการสะสม

ชมผลงานกว่า 130 ชิ้นจากศิลปินชั้นนำและเลือกงานศิลปะที่สะท้อนตัวตน เพื่อเติมเต็มคอลเลคชันของคุณ


สำรวจ 4 แนวทางสร้างแรงบันดาลใจ 

ในการประมูลและนิทรรศการ The Collector Club ผู้เข้าร่วมจะได้สำรวจแนวทางที่แตกต่างกันในการสะสมงานศิลปะ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนักสะสมที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์

The Visionary Valor: ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางการเก็บสะสม ของ คู่สามี ภรรยา นักสะสมชาวอเมริกันที่ชื่อว่า HerbertและDorothy Vogel ทั้งคู่พิสูจน์ให้โลกได้เห็น ว่าการสะสมศิลปะเป็นเรื่องที่ทุกๆคนสามารถเข้าถึงได้ เรื่องศิลปะไม่ใช่เรื่องของเศรษฐีเท่านั้น จากปณิธานความเชื่อที่ถ่อมตน ต่อให้เพียงเงินเล็กน้อยก็สามารถสร้างหนึ่งในคอลเลกชันที่สำคัญที่สุดของโลกได้ ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เรา เก็บสะสมรวบรวมผลงานศิลปะร่วมสมัย ที่ตนเองชื่นชอบ ค่อยๆ สะสมตามกำลังของตน  วันเวลาล่วงเลยไป งานที่เคยเป็นของศิลปินรุ่นใหม่ ก็อาจกลายเป็นงาน ของศิลปินรุ่นใหญ่ได้ในที่สุด

The Civilized Cosmopolite: ได้รับแรงบันดาลใจจาก นักธุรกิจคนสำคัญ ของสหรัฐอเมริกา เช่นตระกูล Rockefeller และ J Paul Getty บุคคลเหล่านี้ไม่เพียงสนับสนุนผลงานศิลปะชั้นครู ที่ตนชื่นชอบเท่านั้น แต่จากความรู้มากมายที่ได้จากการเสาะแสวงหาสมบัติล้ำค่าของโลก พวกเขาได้กลายเป็นเหล่าผู้หลงใหลในเส้นทางประวัติศาสตร์อันอุดมด้วยพหุวัฒนธรรม และอารยธรรม ส่งผลให้ คอลเลคชันของพวกเขามีความหลากหลาย เป็นแหล่งคลังความรู้ รอให้ผู้หลงไหล มาร่วมศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะอันน่าภาคภูมิใจ

The Legendary Lord: ได้รับแรงบันดาลใจจากผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของวงการศิลปะโลก House of Medici ตระกูลนักสะสมชื่อดัง ผู้ครองนครฟลอเรนซ์ในอดีต ครอบครัวเมดิชี อุปถัมภ์ศิลปินจำนวนมาก ในหลากหลายรูปแบบ จนสามารถผลักดันให้ฟลอเรนซ์กลายเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) หรือช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยา โดยศิลปินที่ตระกูลเมดีชีอุปถัมภ์ ได้กลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกที่เรารู้จักมากมาย

The Art Amour: ได้รับแรงบันดาลใจจาก Peggy Guggenhiem Collection พิพิธภัณฑ์ศิลปะในเมืองเวนิส พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เคยเป็นบ้านพักส่วนตัวของสตรีชาวอเมริกัน ผู้มีรสนิยม ที่มองการสะสมผลงานศิลปะไม่เป็นเพียงคลังสะสมแต่เปรียบดั่งลมหายใจ ผสมผสานงานศิลปะเข้ากับชีวิต ประจำวันได้กลมกลืน ทุกๆชิ้นได้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลัก ของห้องแล้วห้องเล่า สร้างมนต์เสน่ห์ 

รื่นรมย์สอดประสานไปกับการใช้ชีวิตของ เจ้าของบ้าน ในแบบที่ ทำให้แขกและอาคันตุกะผู้มาเยือน ตกหลุมรักได้ไม่ยาก


พบกับผลงานชิ้นเอก

การประมูลและนิทรรศการ The Collector Club คัดสรรผลงานชั้นยอดกว่า 130 ชิ้น ซึ่งไม่เพียงสะท้อนถึงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน แต่ยังเป็นเครื่องหมายแห่งความพิเศษและคุณค่าในโลกศิลปะ ไฮไลต์ของงาน เช่น


ถวัลย์ ดัชนี "Battle of Mara / มารผจญ" (พ.ศ.2537) สีน้ำมันและทองคำเปลวบนผ้าใบ

“ถวัลย์ได้พัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ผลงานไปสู่การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสัญลักษณ์ของสัตว์และมนุษย์ การตีความเรื่องราวความเชื่อทางศาสนาเป็นโครงสร้างหลัก แล้วสื่อสารโดยใช้กระบวนการทางจิตรกรรมเป็นภาษาภาพ ด้วยรูปทรงสัญลักษณ์และตัวละครในรูปแบบเฉพาะตัวของศิลปิน เป็นหนึ่งในรูปแบบศิลปะประเพณีใหม่ที่สร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ผลงาน "มารผจญ" แสดงให้เห็นถึงแนวทางดังกล่าว ด้วยภาพพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าตามแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอันเป็นประธานของภาพ สื่อถึงความนิ่งสงบไม่หวั่นเกรงต่อเหล่าสัตว์ร้ายที่ก่อกวนอยู่รายรอบ”


กิตติ นารอด "Riding Nude" (พ.ศ.2560) สีอะครีลิคบนผ้าใบ

“ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่ศิลปินได้ใส่ตัวละครมนุษย์ลงไปบนผืนผ้าใบ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นภาพจำที่จุดประกายชื่อเสียงให้แก่ศิลปิน ม้าหลายตัวที่เราเห็นในผลงานล้วนแต่มีลวดลาย สี ทรวดทรงที่หลากหลายและเป็นปัจเจก บ้างก็มุ่งหน้าไปตามทางเดียวกัน บ้างก็สวนทางสลับกันไป สะท้อนวิถีทางของสังคมมนุษย์ อีกหนึ่งความน่าสนใจที่เด่นชัดอยู่ในผลงานของกิตติก็คือ การให้ความสำคัญกับข้อความที่ส่งผ่านออกมาและอารมณ์มวลรวมของผลงาน มากกว่าความถูกต้องสมจริงตามหลักกายวิภาค สะท้อนถึงสไตล์ที่ไม่เหมือนใครของกิตติ ที่นำผู้ชมเข้าสู่โลกที่ความเป็นจริงและจินตนาการผสานผสมกันอย่างลงตัว”


จ่าง แซ่ตั้ง "ตรอกในสวน" (พ.ศ.2529) สีโปสเตอร์บนกระดาษ

“ทิวทัศน์คลองละแวกบ้านที่คุ้นตา ถูกรังสรรค์ออกมาผ่านการตวัดแปรงเขียนสไตล์อิมเพรสชันนิสม์ ผลงานภาพนี้อยู่ในช่วงยุคที่ จ่าง แซ่ตั้ง ได้ออกไปเก็บภาพความธรรมดาของชุมชน ทิวทัศน์บ้านเรือนแบบตะวันออกที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความเฉพาะตัวของศิลปินเป็นผลงานกึ่งนามธรรม ก่อนที่ต่อมา จ่าง จะได้รับการยอมรับในฝีมือและมีชื่อเสียงจนผลงานได้เข้าไป อยู่ในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์ระดับโลก”


จักรพันธุ์ โปษยกฤต "Nude / สุภาพสตรีเปลือย" (พ.ศ.2504) สีชอล์กพาสเทลบนกระดาษ

“ภาพผลงานสีชอล์กชิ้นแรก ๆ ของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่พาเราหมุนย้อนทวนเข็มเวลาภาพนี้ เชิญชวนให้ผู้ชมได้มาพบกับหญิงสาวที่งดงามราวกับว่าหลุดออกมาจากปกรณัม อรชรอ่อนหวาน ตามอุดมคติสรรค์สร้าง ศิลปินได้บรรจงเขียนสตรีในภาพขึ้นมาจากห้วงอารมณ์แห่งการแสวงหาความแปลกใหม่ การท้าทายแหวกออกจากขนบวิถีปฏิบัติเดิม ภาพเปลือยฝีมือจักรพันธุ์ที่หาชมได้ยากนี้ 

เกิดจากความพยายามที่จะทดลองค้นหาแนวทางที่กลายขีดจำกัดเดิม ให้เชี่ยวชาญในทุกศาสตร์ทุกแขนง”


ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ "Our Camp - Yamanaga" (ราวปี พ.ศ.2480) สีน้ำมันบนกระดาน

“ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางไฟสงครามโลกครั้งที่สองที่ลุกโชนอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ณ ดินแดนอาทิตย์อุทัย จิตร นักเรียนทุนผู้กำลังศึกษาต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์ กรุงโตเกียว (Tokyo Academy of Fine Arts) ประเทศญี่ปุ่นในขณะนั้น ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวและเสียงครวญร้องของความทุกข์โศกจากการสูญเสีย เฝ้ารอความตายที่คืบคลานเข้ามา โดยไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดเมืองนอนได้ เมื่อความอดอยากเข้ากลืนกิน ความเหน็บหนาวแวะเวียนมาและไม่ยอมจากไป ขาตั้งไม้วาดรูปหรือแม้แต่ภาพวาดสีน้ำมันก็ต่างถูกนำไปเผาฟืนปันความอบอุ่นน้อยนิดให้แก่ร่างกาย ประจักษ์หลักฐานภาพชิ้นนี้จึงถือเป็นผลงานหายาก ชิ้นสำคัญที่คงเหลือรอดกลับมาให้แก่คนรุ่นหลัง”


สมโภชน์ อุปอินทร์ "Vietnamese Lady" (พ.ศ.2505) สีน้ำมันบนผ้าใบ  

“รูปแบบงานจิตรกรรมอันเป็นภาพจำของสมโภชน์นั้นได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแนวกึ่งนามธรรม นามธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคิวบิสม์ ต่างจากในภาพเหมือนของหญิงสาวชาวเวียดนาม ที่สมโภชน์เขียนออกมาได้อย่างนุ่มนวลละมุนตาภาพนี้ รสมือในการเลือกหยิบใช้คู่สีที่ไม่เหมือนใครแต่สามารถคุมโทนและน้ำหนักของงานให้ออกมาได้อย่างลงตัวของศิลปินยังคงปรากฏให้เห็นในงาน นับว่าเป็นผลงานภาพเหมือนบุคคลจำนวนน้อยที่หาชมได้ยาก”


ประเทือง เอมเจริญ "Universe / (พ.ศ.2512) สีน้ำมันบนผ้าใบ

“ลายเซ็นแบบดั้งเดิมรูปดวงอาทิตย์ที่ปรากฏให้เห็นได้ในผลงานชุดแรก ๆ ในตอนที่ศิลปินออกเดินทาง ไปหาแรงบันดาลใจนอกบ้านแล้วพลันได้เห็นแสงอาทิตย์หลากสีสันที่สาดส่องลงมาอย่างงดงาม มอบพลังบันดาลการสร้างสรรค์ให้กับเขาอย่างมากมาย ประเทืองใส่ชีวิตลงไปในงาน มอบความงามผ่านมุมมองที่เขาเห็นผ่านดวงตา ที่แม้แต่แสงอาทิตย์ที่เจิดจ้าก็ไม่อาจหยุดเขาจากความหลงใหลที่มีให้กับธรรมชาติ”


ถวัลย์ ดัชนี "The Dhammapada" ปากกาลูกลื่นบนกระดาษ 

“ "ธรรมบท" นับได้ว่าเป็นหัวใจหลักที่สรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างครอบคลุมที่สุด แสดงธรรมในรูปแบบของการเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย ผลงานแสดงให้เห็นร่างทั้งร่างที่ถูกอัดแน่นอยู่ในภาพ ประหนึ่งถูกบีบอัดอยู่ในกรอบของความคิด มวลกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งแสดงการขัดขืนจากความคิดทางลบที่พร้อมจะบิดเบือนไปสู่ตัณหาโดยใช้หัวสัตว์เป็นภาพแทน ความฉับไวในผลงานเป็นการย้ำเตือนให้เห็นถึงความพยายามในการดิ้นรนให้หลุดพ้นจากความชั่ว เพราะหากเรายิ่งเฉื่อยชา จิตก็จะชินชาและกลืนหายไปในความชั่วนั้น”


ถวัลย์ ดัชนี "ฉลูวิลาสพิฆาตไพรี"  สีน้ำมันบนผ้าใบ 

“สีดำ สีแดง และสีขาว มักเป็นสีที่ถวัลย์สลับใช้ไปมาในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่สำหรับผลงานชิ้นนี้มีความพิเศษที่เป็นการใช้สีทั้ง 3 สร้าง "ฉลูวิลาสพิฆาตไพรี” ผลงานที่แสดงภาพฉลูร่างกำยำ มวลกล้ามเนื้อที่เกิดจากการปาดป้ายสะบัดแปรงสร้างพลัง เสมือนภาพยังคงเคลื่อนไหวอยู่”


นที อุตฤทธิ์ "Parrhasius White Painting" (พ.ศ.2550) สีน้ำมันบนผ้าใบ 

“พื้นผิวกระดาษที่นาบเนียนหลอกตาอยู่บนผืนผ้าใบ เป็นภาพเขียนที่ได้หยิบเอาแรงบันดาลใจจากตำนานสมัยกรีกโบราณของ Parrhasius จิตรกรผู้วาดเลียนแบบความจริงด้วยการลวงตา โดย นที เล่นกับแนวคิดการรับรู้ สัมผัสทางตาและภาพมายาลวง อีกทั้งยังกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดการเชื่อมโยงจินตนาการกับภาพความจริงว่า การปรากฏอยู่ของภาพนั้นมีอยู่ทั้งในเชิงกายภาพตลอดจนปรากฏรูปขึ้นในความรู้สึกลึกลงไปในจิตใต้สำนึกและความทรงจํา”


มือบอญ "Retro Voyage" (พ.ศ.2566) สีอะครีลิค สีกวอช และสเปรย์บนผ้าลินิน 

“ผลงานเชิญชวนให้เดินทางผจญภัยสู่ห้วงอวกาศที่ไม่มีใครรู้จัก ที่ซึ่งผืนผ้าใบของท้องฟ้าทอดยาวไปไกลเกินกว่าจินตนาการ อันเผยให้เห็นถึงความกว้างใหญ่ ซับซ้อน และสวยงามของจักรวาล การเปิดรับความหลากหลายเป็นการท้าทายต่ออุปาทานหรืออคติ เชื้อเชิญให้ชื่นชมและเคารพในทุกมุมมอง ดื่มด่ำลงไปในสเปกตรัมที่หลากหลายของมนุษย์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ โอบกอดรับสีสันของเพศที่แตกต่างและรับฟังการประสานเสียงของวัฒนธรรมที่เสริมสร้างการดำรงอยู่ร่วมกัน ยอมรับและเปิดรับในสิ่งที่ไม่รู้จัก เริ่มต้นการเดินทางแห่งการเปลี่ยนแปลงของความเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจ และการเติบโตร่วมกัน ขับเคลื่อนเราไปสู่อนาคตที่ซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและการเห็นคุณค่าในทุกสิ่งที่จะเติบโต การมีส่วนร่วมกับผู้คนจาก เชื้อชาติ วัฒนธรรม และความเชื่อที่แตกต่างกันทำให้เรามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความกว้างใหญ่และงดงามของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งที่เรียกว่า มนุษย์”

สุเชาว์ ศิษย์คเณศ "The Field / ทุ่งนา" สีน้ำมันบนผ้าใบ

“ความแร้นแค้น บรรยากาศอึมครึม หดหู่เศร้าสร้อย นับเป็นวัสดุชั้นดีที่สุเชาว์ใช้ปาดป้ายลงบนภาพวาด ชั้นสีหนาอันเป็นเอกลักษณ์ที่เขามักถ่ายทอดความทุกข์ยากที่ประสบพบเจอในช่วงชีวิตผ่านลงไปในผลงาน แต่กลับกันในผลงานภาพนี้เราได้เห็นโทนสีละมุนตา ภาพท้องนาที่ดูสงบเย็น เสมือนเป็นตัวแทนความสุข เพียงน้อยนิดในชีวิตอันแสนเศร้าของสุเชาว์”

ทั้งยังมีผลงานของ วันดา ใจมา "Inheritance" (พ.ศ.2561) สีน้ำมันบนผ้าใบ, แม๊กกี้ - ชรารัตติ์ สาระอาภรณ์ "Self-Indulgence" (พ.ศ.2565) สีอะครีลิคบนผ้าใบ, อเล็กซ์ เฟส - พัชรพล แตงรื่น "Untitled" (พ.ศ.2560) สีน้ำมัน สีอะครีลิค และสเปรย์บนผ้าลินิน, ชาติชาย ปุยเปีย "Untitled" สีน้ำมัน สีอะครีลิค ขี้ผึ้ง และทองคำเปลวบนผ้าใบ เป็นต้น 


เข้าร่วมคลับเพื่อรับประสบการณ์สุดพิเศษ  

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักสะสมผู้ช่ำชองหรือเป็นมือใหม่ในโลกศิลปะ การประมูลและนิทรรศการครั้งนี้จะมอบแรงบันดาลใจและทำให้คุณได้รับประสบการณ์อันน่าจดจำ

นิทรรศการแสดงผลงาน The Collector Club เปิดให้ชมตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567 เวลา 10.00 -19.00 น. ที่ JWD Art Space การประมูลจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2567 เริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมงานประมูล เวลา 10.00-13.00 น. และเริ่มการประมูลเวลา 14.00 น. ที่ JWD Art Space 

The Collector Club ยินดีต้อนรับนักสะสมและผู้ชื่นชอบงานศิลปะ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสโมสรสุดพิเศษ เพื่อสำรวจผลงานชั้นเยี่ยมที่คัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน และเลือกงานศิลปะเพื่อเติมเต็มคอลเลกชันที่สะท้อนถึงตัวตนความเป็นคุณ 

ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/theartauctioncenter  สอบถามที่ Line @theartauction และ โทร. 065-097-9909


No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.