Header Ads

สธ. ผนึกพันธมิตร Dengue-zero พร้อมย้ำมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน หวังลดจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออก เผยผู้เสียชีวิตพุ่งทะลุ 46 คน




สธ. ผนึกพันธมิตร Dengue-zero พร้อมย้ำ

มาตรการ 4 เน้น 4 เดือน

หวังลดจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออก เผยผู้เสียชีวิตพุ่ง

ทะลุ 46 คน


กรุงเทพฯ – 22 สิงหาคม 2567 – กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กรุงเทพมหานครสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งประเทศไทย และทีมพันธมิตรจากความร่วมมือ Dengue-zero สานต่อภารกิจยับยั้งการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ ประกอบกับปรากฎการณ์ลานีญาที่จะส่งผลให้ฝนตกชุกนำไปสู่น้ำท่วมขังที่อาจจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 นี้ จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอาจจะเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี พร้อมเดินหน้าให้ความรู้ในเรื่องโรคว่าทุกคนมีความเสี่ยง ไม่ใช่เพียงแค่เด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงก็สามารถป่วยได้และอาการอาจรุนแรง อีกทั้งตอกย้ำองค์ความรู้ด้านการป้องกันตามาตรการของหน่วยงานภาครัฐ การไม่ซื้อยามารับประทานเองโดยเฉพาะยากลุ่ม NSAID และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกของการป้องกันได้ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคไตวาย โรคตับเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ควรพิจารณาไปปรึกษาแพทย์ในการรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพื่อลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและความรุนแรงของโรค
 
นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “จากสถานการณ์การระบาดไข้เลือดออกในประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนและอาจกลายเป็นการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ โดยผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมในประเทศไทย ตั้งแต่เดือน มกราคม – สิงหาคม 2567 มียอดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมแล้วกว่า 62,860 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 49 ราย1 ทั้งนี้กรมควบคุมโรคยังคงเดินหน้าเน้นย้ำแนวทางการป้องกันและวินิจฉัยยับยั้งป้องกันโรคไข้เลือดออกเชิงรุก ด้วยมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงดังกล่าวให้ต่ำกว่าค่าคาดการณ์ 30% หรือต่ำกว่า 100,000 ราย โดยมาตรการ 4 เน้น ประกอบด้วย 1) การเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย 2) การตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ 3) การวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งหากพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออก ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยชุดตรวจไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว (NS1 rapid test) ทุกราย และ 4) การสื่อสารความเสี่ยง ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์ งดจ่ายยากลุ่ม  NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก เพราะยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร อาจทำให้เลือดออกได้ และยังทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัวอาจทำให้เลือดออกมากขึ้นอีกด้วย”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อมร ลีลารัศมี ประธานพันธมิตรบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero กล่าวว่า “สำหรับในปีนี้แม้ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมจะลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันกว่าปีที่แล้ว 0.87 เท่า แต่จากสถิติการระบาดของโรคไข้เลือดออกในช่วง 65 ปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอาจจะเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี และพบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 – 14 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่าไข้เลือดออกมีการระบาดกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยพันธมิตรจากความร่วมมือ Dengue-zero จึงยังคงเดินหน้ามาตรการยับยั้งป้องกันไข้เลือดออกเชิงรุก มุ่งเน้นในการทำงานอย่างเข้มข้นร่วมกับองค์กรด้านสาธารณสุขในระดับประเทศและท้องถิ่น บุคลากรทางการแพทย์ ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง ขณะเดียวกันก็ยังเน้นย้ำการสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงการป้องกันโรคไข้เลือดออก พร้อมสื่อสารถึงการปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออกอย่างไม่ซื้อยากลุ่ม NSAID มารับประทานเอง และควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด”
กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ นักร้อง นักแสดง พระเอกลิเกชื่อดัง กล่าวว่า “โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่อันตรายกว่าที่ทุกคนคิดมาก ๆ ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปยังคนในครอบครัวและคนรอบตัวอีกด้วยครับ อย่างเคสของผมเอง ที่ตอนนี้น้องสาวยังคงนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ผมและครอบครัวอยู่กับความกังวลใจมานานหลายเดือนแล้วครับ เฝ้ารอปาฏิหาริย์ให้น้องตื่นขึ้นมา ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นแล้ว การดูแลและป้องกันถือเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงอยากให้เหตุการณ์ของตัวเองนี้เป็นบทเรียนและเครื่องเตือนใจให้กับทุกคนได้รู้ว่าไข้เลือดออกใกล้ตัวและน่ากลัวกว่าที่คิด และเราไม่รู้เลยว่าเราจะเป็นวันไหนหรือเมื่อไหร่ ยิ่งถ้าเราไม่รู้ เรายิ่งต้องป้องกัน ผมอยากให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงอันตรายจากโรคไข้เลือดออก เพราะรายต่อไปอาจจะเป็นคุณหรือคนใกล้ตัวของคุณครับ”
สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่ที่หลากหลายพื้นที่เอื้อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้น เจ้าหน้าที่ของ กทม.ได้ดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน เฝ้าระวัง สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พร้อมกิจกรรมรณรงค์ “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงลูกน้ำยุง” จัดทำ Big Cleaning Day ปรับภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อม แจกทรายอะเบทและโลชั่นทากันยุง พร้อมทั้งออกหน่วยคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ กทม. ยังย้ำเตือนแก่ประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุขทั้ง 50 เขต ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยช่วยกระจายความรู้ประชาชน ให้เสริมย้ำมาตรการ 5 ป. 1 ข. 3 เก็บ กับชาวกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งยังใช้แอปพลิเคชัน Line ในการสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบถึงภัยองไข้เลือดออกและแนวทางในการป้องกันตนเองที่สามารถเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.