ดีป้า เผยแผนพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล ไทย ปี 2568 ชู Digital Skill Roadmap มุ่งยกระดับความรู้ – ทักษะดิจิทัลคนไทยทั้งประเทศ
ดีป้า เดินหน้าส่งเสริมการพัฒนากำลังและบุคลากรดิจิทัลเต็มสูบ ชูแผนพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับคนไทย หรือ Digital Skill Roadmap มุ่งยกระดับความรู้และทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนไทยทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัยครอบคลุม 67 ล้านคน พร้อมปั้นผู้สนใจประกอบอาชีพใหม่แห่งโลกอนาคตใน 9 สาขา รวมถึงส่งเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับสายอาชีพด้านดิจิทัลขั้นสูงที่ประเทศไทยขาดแคลน
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ ดีป้า ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและจะดำเนินการต่อไปคือ การส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัลในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลสำคัญอย่าง โค้ดดิ้ง แก่เด็กและเยาวชนไทย การสร้างแพลตฟอร์ม E-learning ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน รวมถึงการส่งเสริมทักษะและองค์ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ในปี 2568 ดีป้า จะดำเนินการตามแผนงานอนาคตผ่านแนวทางของ ‘แผนพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับคนไทย’ (Digital Skill Roadmap) เพื่อขยายผลการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัลครอบคลุมประชากรทั้ง 67 ล้านคนในอนาคต โดยเปลี่ยนการทำงานเชิงอบรมมาเป็นการทำงานเชิงระบบ ซึ่งแผนงานแรกคือ ทักษะดิจิทัลสำหรับทุกคน (Digital Skill for ALL) หรือ การส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีความรู้ความเข้าใจในทักษะดิจิทัล (Digital Literacy) ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน การใช้สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลและสิทธิ์ โดยการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์ม E-learning ที่เป็น Open Platform
แผนงานต่อมาคือ ทักษะดิจิทัลสำหรับอาชีพยุคใหม่ (Digital-driven Career) หรือ การเร่งส่งเสริมและสนับสนุนทักษะดิจิทัลสำหรับอาชีพใหม่แห่งโลกอนาคตใน 9 สาขา ประกอบด้วย 1. กลุ่มอาชีพในอุตสาหกรรมเกม ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบเกม นักพัฒนาเกม นักกีฬาอีสปอร์ต แคสเตอร์ คอมเมนเตเตอร์ ฯลฯ 2. กลุ่มอาชีพในอุตสาหกรรมแอนิเมชัน อาทิ นักออกแบบ / นักพัฒนาแอนิเมชัน 3. กลุ่มอาชีพในอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ เช่น นักออกแบบคาแรกเตอร์ 4. เกษตรกรดิจิทัล (Digital Farmer) 5. Digital Influencer 6. ผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Entrepreneur) 7. นักจัดการงานด้านดิจิทัล (Digital Administrator) 8. นักจัดการข้อมูล (Data Administrator) และ 9. นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer)
“สำหรับอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมเกม แอนิเมชัน และคาแรกเตอร์ ดีป้า จะดำเนินการพร้อมกันทั้งประเทศในปี 2568 โดยเริ่มจากการยกระดับทักษะและองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจประกอบอาชีพในทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่า 50,000 คน ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการ Accelerate เพื่อเร่งพัฒนาและคัดกรองให้รู้และเข้าถึงทักษะอาชีพอย่างแท้จริง ก่อนผลักดันให้เกิดการจับคู่กับภาคเอกชนเพื่อทำงานจริง ทั้งนี้ การส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพใหม่แห่งโลกอนาคตทั้ง 9 สาขาถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลสำคัญ และเปิดโอกาสให้ประชาชนไทยมีทางเลือกในการประกอบอาชีพยุคใหม่ที่บางสาขาอาจจะยังไม่มีสอนในห้องเรียน หรือถูกบรรจุในระบบการศึกษาภาคปกติ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ในส่วนของแผนงานสุดท้ายคือ ทักษะดิจิทัลสำหรับอาชีพด้านดิจิทัล (Digital Professional) หรือ การส่งเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับสายอาชีพที่ประเทศไทยขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็น Data and AI, Blockchain Engineer, 5G Technology, Quantum Computing และ Cloud Innovation
นอกจากนี้ ดีป้า ยังส่งเสริมองค์กรธุรกิจ และประชาชนทั่วไปในการส่งเสริมการจ้างงาน และการพัฒนาทักษะผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดย องค์กรธุรกิจที่ส่งพนักงานฝึกอบรมในหลักสูตรดิจิทัลที่ ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตรให้การรับรอง โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 250% นอกจากนี้ยังสามารถหักค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 150% ของเงินเดือน 12 เดือนแรกของผู้จบการศึกษาด้านดิจิทัล สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถนำค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรดิจิทัลมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 100% พร้อมกันนี้ ดีป้า จะอุดหนุนค่าใช้จ่าย 70% สำหรับการพัฒนาทักษะดิจิทัลของนักเรียน นักศึกษา ผู้จบการศึกษา หรือผู้ว่างงานอีกด้วย
ดีป้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับคนไทยจะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนให้คนไทยมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเป็นการผลักดันให้ธุรกิจในประเทศเติบโต ซึ่งส่งให้เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่ง ดีป้า พร้อมทำงานเพื่ออนาคตของคนไทย และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก ตามวิสัยทัศน์ We work smart every day to build a world-class digital economy and to help people perform better, think faster and live better.
No comments