Header Ads

เปิดฉากยิ่งใหญ่! Halal Inspirium จุดประกายผู้ ประกอบการไทย ผนึกกำลังภาครัฐดันอุตสาหกรรมฮาลาลบุกตลาด โลก

Screenshot_20240904-214513~2


เปิดฉากยิ่งใหญ่! Halal Inspirium จุดประกายผู้

ประกอบการไทย

ผนึกกำลังภาครัฐดันอุตสาหกรรมฮาลาลบุกตลาด

โลก


เปิดฉากยิ่งใหญ่! Halal Inspirium จุดประกายผู้ประกอบการไทย ผนึกกำลังภาครัฐดันอุตสาหกรรมฮาลาลบุกตลาดโลก

“ภูมิธรรม” ปลื้ม! เปิดงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย Halal Inspirium เปิดฉากแสดงศักยภาพฮาลาลไทยอย่างยิ่งใหญ่ จุดประกายผู้ประกอบการไทย “พิมพ์ภัทรา” ผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน และ 3 ธนาคาร EXIM Bank-SME D Bank-ธนาคารอิสลาม รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทะยานสู่การเป็น “ฮับฮาลาลอาเซียน” ภายในปี 2570 ตั้งเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มทะลุ 55,000 ล้านบาท พร้อมยกระดับการผลิตสินค้าฮาลาลพรีเมียม ส่งออกสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เปิดตัว "ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย" เผยโฉมอุตสาหกรรมฮาลาลครบวงจร พร้อมบุกตลาดโลก

กรุงเทพฯ 4 ก.ย. 67 - นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย Halal Inspirium : สร้างแรงบันดาลใจนําอัตลักษณ์ไทยสู่สากล พร้อมด้วยนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


Screenshot_20240904-215035~2

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสําคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน (ASEAN Halal Hub) ตามนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยศักยภาพและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยถือได้ว่ามีความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งการเป็นฐานการผลิตสินค้าฮาลาลที่มีคุณภาพและหลากหลาย การมีแรงงานและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งมีศักยภาพ อีกทั้งยังมีภาคการท่องเที่ยวเป็นจุดขาย ซึ่งทำให้ประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากในการขยายตลาดไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลก

ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ตามนโยบาลที่ได้มอบไว้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาลในรูปแบบ “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล” (ระยะสั้น) ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) และแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ตลอดจนแผนขยายตลาดสินค้าฮาลาลไปยังตลาดที่มีกําลังซื้อสูง เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศ Non-Muslim อื่น ๆ ทั่วโลก เป็นต้น

เปิดฉากยิ่งใหญ่! Halal Inspirium จุดประกายผู้ประกอบการไทย ผนึกกำลังภาครัฐดันอุตสาหกรรมฮาลาลบุกตลาดโลก

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศศักดาจัดงาน "Halal Inspirium" หวังปลุกกระแสฮาลาลไทยให้ระอุ พุ่งเป้าแย่งชิงตำแหน่งศูนย์กลางฮาลาลแห่งอาเซียนภายในปี 2570 ผลักดันทุกสาขาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยชิงตลาดฮาลาลโลก มูลค่ามหาศาลกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่คาดทะยานแตะ 3.1 ล้านล้านเหรียญฯ ในปี 2570 ย้ำชัด "นี่คือโอกาสทองของผู้ประกอบการไทย ถึงเวลาต้องรุกตลาดมุสลิม 1 ใน 4 ของประชากรโลก!" ด้านข้อมูลเชิงลึกเผยปัจจุบันไทยมีทัพผู้ประกอบการฮาลาลแข็งแกร่งกว่า 15,000 ราย มีสินค้าฮาลาลกว่า 166,000 รายการ พร้อมร้านอาหารฮาลาลอีก 3,500 ร้าน ตอกย้ำศักยภาพการส่งออกปี 2566 พุ่งทะลุ 216,698 ล้านบาท โตเฉลี่ย 2.6% ทะยานขึ้นแท่นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับ 11 ของโลก

งาน "Halal Inspirium" ครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือกับพันธมิตร อาทิ ผู้แทนการค้าไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) พร้อมหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนอีกมาก ในวันที่ 4 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


Screenshot_20240904-215053~2


"พิมพ์ภัทรา" ย้ำว่า "ฮาลาลไทยไม่ได้มีดีแค่อาหาร เรามีครบวงจรตั้งแต่เครื่องสำอาง แฟชั่น และการท่องเที่ยว" พร้อมเปิดเวทีให้ 40 ผู้ประกอบการชั้นนำโชว์ศักยภาพ คาดดึงดูดผู้เข้าชม คู้ค้า ทะลุเป้า 450 ราย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหลายประเทศมุสลิมมีความต้องการนำเข้าสินค้าฮาลาลจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ทำให้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาด ขณะเดียวกัน การรับรองฮาลาลกลายเป็นเครื่องหมายของคุณภาพและความปลอดภัย ทำให้สินค้าที่มีตราฮาลาลสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลาย ผู้บริโภคที่ไม่ใช่มุสลิมก็เริ่มให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ฮาลาล ทำให้ตลาดนี้มีความน่าสนใจต่อผู้ผลิตสินค้าและบริการทั่วไปที่ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมาย

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการรวมพลังครั้งใหญ่ของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ นำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงว่าการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนชั้นนำด้านอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซาอุดีอาระเบีย บรูไนฯ และมาเลเซีย เป็นต้น รวมทั้งสถาบันการเงินที่พร้อมสนับสนุนเงินทุน และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย(CICOT) ที่จะช่วยรับรองมาตรฐานฮาลาลระดับสากล

Screenshot_20240904-214947~2

นอกจากอาหารฮาลาลที่ไทยมีชื่อเสียงอยู่แล้ว งานนี้ยังเปิดมุมมองใหม่สู่อุตสาหกรรม Muslim-friendly ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น เครื่องสำอาง การท่องเที่ยว และบริการทางการเงินแบบอิสลาม
รวมทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนปัจจัยแวดล้อมของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย มีภารกิจในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และยกระดับมาตรฐาน รวมทั้งขยายตลาดส่งออกสินค้าฮาลาล โดยมีผลิตภัณฑ์เป้าหมาย เช่น อาหาร ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง แฟชั่นมุสลิม นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสาน ความร่วมมือด้านฮาลาลกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเริ่มธุรกิจด้านฮาลาล ทางศูนย์มีบริการให้คำปรึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาดในการเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ ให้คำแนะนำในการวิจัยพัฒนา และยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าฮาลาล และการขอรับรองมาตรฐาน สำหรับในส่วนของผู้ผลิตรายเดิมที่สนใจผลิตสินค้าฮาลาล ทางศูนย์มีบริการให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดคล้องตามมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น GHP, HACCP เป็นต้น และมีโปรแกรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออก และสำหรับผู้ประกอบการที่มีความต้องการด้านเงินทุน ทางศูนย์ได้มีความร่วมมือกับธนาคาร เช่น EXIM Bank, SME D Bank และ ธนาคารอิสลาม เป็นเครือข่ายพันธมิตรในการให้บริการสินเชื่อกับผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังให้บริการห้องปฎิบัติการด้านฮาลาล เพื่อตรวจวิเคราะห์สารต้องห้าม เช่น ส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และพันธุกรรม (DNA) ของสุกร รวมทั้ง ยกระดับขีดความสามารถในการตรวจทดสอบ โดยเชื่อมโยงเครือข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบ ร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น เพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ภายในงานนี้ได้รับเกียรติจากท่านจุฬาราชมนตรีในการกล่าวดุอาอวยพรเปิดงานตามหลักศาสนามุสลิม และมีการแสดงแฟชั่นโชว์ศักยภาพตลาดด้านความสวยงาม ในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมุสลิม รวมทั้งสาธิตการปรุงอาหารฮาลาล โดย “เชฟนูรอ” เชฟหญิงชาวไทยมุสลิม จาก Blue Elephant ที่สามารถขยายการรับรู้ Soft power อย่าง “อาหารไทย” ไปยังตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิมและกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพทั่วโลก
Halal Inspirium จึงเป็นงานแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลไทยที่เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ ประกาศความพร้อมการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลแห่งอาเซียน ภายในปี 2570

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า "วันนี้เราไม่ได้แค่เปิดตัวศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย แต่เรากำลังเปิดประตูสู่โอกาสมหาศาลในตลาดฮาลาลโลก ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการครบวงจร ตั้งแต่ให้คำปรึกษา หาตลาด จนถึงจับคู่ธุรกิจ โดยเน้นการยกระดับสินค้าฮาลาลไทยสู่ระดับพรีเมียม เราไม่ได้มองแค่ตลาดมุสลิม แต่เรากำลังมองถึง กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและความยั่งยืนทั่วโลก" ผู้อำนวยการ สศอ. เน้นย้ำ "สินค้าฮาลาลไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้บริโภคมุสลิมอีกต่อไป แต่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการความสะอาด ปลอดภัย และมีจริยธรรมในการผลิต"

ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การเสวนาเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรม การบรรยายเจาะลึกตลาดฮาลาลโลกและโอกาสของไทย แฟชั่นโชว์ที่ผสานความงามและความเหมาะสมทางศาสนา การสาธิตอาหารฮาลาลโดยเชฟระดับโลก การเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยคาดว่าจะเกิดคู่การเจรจาทางธุรกิจประมาณ 150 คู่ มูลค่าการซื้อขายกว่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานสามารถสัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานสากล ผ่านบูธการแสดงสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการฮาลาล ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ในการดูแลตัวเอง Wellness&Spa การท่องเที่ยว และยา รวมทั้งบูธจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล รวมทั้งสิ้นกว่า 40 ราย ให้ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถหาข้อมูลและติดต่อได้โดยตรง

การจัดงานฯ ในครั้งนี้ คาดหวังสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและภาครัฐ ได้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย รวมทั้งการยอมรับสินค้าและบริการฮาลาล สามารถต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับประชาชน และยังสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลระหว่างประเทศ ผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นําด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Halal Hub) ภายในปี 2570

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.