Header Ads

สกสว. พร้อมประสานภาคีสนับสนุน “วิจัยและนวัตกรรม” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

 

สกสว. พร้อมประสานภาคีสนับสนุน “วิจัยและนวัตกรรม” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

สกสว. ร่วมจัดสานเสวนา “การพัฒนากลไกขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR/TTTR)” เนื่องในวัน Thai-BISPA DAY 2022

            เมื่อวันที่ 21 กันยายน 65 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชนและ สมาคม TBAN จัดเสวนา ในหัวข้อ “การพัฒนากลไกขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR/TTTR)” โดยมี รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว., รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย บพข., นายเท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กราฟีน ครีเอชั่น จำกัด และ นายนริศชา ต่อสุทธิ์กนก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสพี ครีเอทีฟ เมกเกอร์ ร่วมเป็นวิทยากร

            รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือนักวิจัย นักนวัตกร นักเทคโนโลยีที่ทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งมาตรการในการสร้างธุรกิจใหม่ หรือขยายกิจการเดิมเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่สูงขึ้นพอสมควร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เอื้อประโยชน์ให้มีการลงทุนทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น และส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงรวมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

   

ต่อความสำคัญดังกล่าว สกสว. จึงร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ออกมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR: Thailand Business Innovation Research / TTTR: Thailand Technology Transfer Research) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 โดยแนวคิดนี้เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์กับบริบทของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของไทย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการกระตุ้นให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีหลักการคือ เป็นกลไกการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมตรงไปยังภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการทำวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมเอกชนขนาดกลางที่มีความพร้อมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation driven enterprise) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สกสว. ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ทดลองประกาศให้ทุนตามมาตรการ TBIR/TTTR ในลักษณะโครงการนำร่อง (Pilot Project) และได้มอบหมายให้สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการ คัดเลือกโจทย์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพร้อมกับสรรหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อวางแนวทางในการขยายผลการให้ทุนตามมาตรการ TBIR/TTTR ไปยังทุกหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมอื่น ๆในประเทศต่อไป

ด้าน รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย บพข. กล่าวถึงมาตรการ TBIR ว่า เป็นมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จาก 2 ส่วน คือ ส่วนของการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาของสังคมของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทมากในทุก ๆ ด้าน หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กฯ นี้จะสร้างความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรม ยกตัวอย่างเช่น ระบบการให้บริการด้านสุขภาพของรัฐ รวมถึงการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ การใช้เทคโนโลยีติดตามการจราจรเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เทคโนโลยีสำหรับการจัดการน้ำ เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้นวัตกรรมและการทำงานของภาครัฐและผู้ประกอบการร่วมกัน

เช่นเดียวกับส่วนของผู้ประกอบการ เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็กเป็นจำนวนมากและเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ มาตรการนี้เป็นการสนับสนุนเงินแก่ผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมและให้สิทธิความเป็นเจ้าของผลงานแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากผลงานนั้น ๆ ได้ อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถนำนวัตกรรมนั้นไปต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง จนสามารถเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ปัจจุบัน บพข. ได้สนับสนุนโครงการนำร่อง 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเสื้อกันกระแทกที่ใช้วัสดุกราฟีน บริษัท กราฟีนครีเอชั่นส์ จำกัด  (โจทย์ตามความต้องการภาคเอกชน) และ โครงการพัฒนาเครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอล ชนิดสื่อสารไร้สายด้วยสัญญาณบลูทูธ บริษัท เอสพี ครีเอทีฟ เมกเกอร์ จำกัด (โจทย์ตามความต้องการภาครัฐ) ซึ่งผู้ประกอบการผู้รับทุน ต่างเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 โครงการ จะช่วยแก้ปัญหาทางสังคมในเรื่องของความปลอดภัย และ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศอยู่ในช่วงวิกฤติทางสุขภาพ  

 

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.