Header Ads

รมว.กก. แถลง 7 นโยบายพลิกโฉมการท่องเที่ยวและกีฬาไทย ปักธงเป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวสูงสุด 3.5 ล้านบาท

กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศเป้าหมายการทำงานปี 67 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท เพิ่มส่วนแบ่งมูลค่ากีฬาไทยให้ได้ 1% ของอุตสาหกรรมกีฬาโลก คิดเป็น มูลค่า 455,800 ล้านบาท วาง 7 นโยบายขับเคลื่อนท่องเที่ยวและกีฬา ใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นขุมพลังใหม่

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในปี 67 กระทรวงฯ ประกาศนโยบายที่สำคัญที่จะ “พลิกโฉมการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย” ด้วยการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท และเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่ากีฬาไทยที่มีเพียง 0.58% ในขณะนี้ให้เป็น 1% จากอุตสาหกรรมกีฬาโลกที่มีขนาด 45.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 455,800 ล้าน บาทให้ได้

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายให้หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ แล้ว มีความมุ่งมั่นและตั้งใจว่าในปี 67 เราจะเติบโตไปพร้อมๆ กัน จับมือไปด้วยกันกับทุกภาคส่วน โดยจะเน้นการบูรณาการกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ จะพูดจากันมากขึ้น บูรณาการกันมากขึ้น เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างว่องไว”

น.ส.สุดาวรรณ กล่าว

*วาง 7 นโยบายหลักขับเคลื่อน

1. การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 67 จากเชิงปริมาณเข้าสู่โหมดของคุณภาพ ทั้งมิติของในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของประเทศไทยคึกคักตลอดทั้งปี ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวไทย

“ประเทศไทยต้องมี High season on year round tourism destination คือเที่ยวได้ทั้งปี หรือเที่ยวได้ทั้ง 365 วัน จึงได้เตรียม Event ต่างๆ ไว้มากมาย อาทิ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลสงกรานต์ ที่จะจัดให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพราะยูเนสโก้เพิ่งประกาศขึ้นทะเบียนให้สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ จึงต้องยกระดับกิจกรรม Event ต่างๆ ในระดับชุมชนให้เป็น Event ในระดับนานาชาติ เป็นการกระตุ้นการไปท่องเที่ยวเมืองรอง จะทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาตลาดเดิม และเจาะตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง”

น.ส.สุดาวรรณ กล่าว


2. กระทรวงฯ จะใช้ Soft Power เป็นพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทยให้เป็น “Engine the New Power” และจุดเด่นของ Soft Power ในเรื่องของกีฬาเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนด้วยและเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยในสายตาชาวโลกที่สำคัญ และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน demand ของการท่องเที่ยวและการกีฬาได้เป็นอย่างดี

3. ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทั้ง Hospitality และ Safety โดยต้องทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นว่า “เมืองไทยปลอดภัย” มาแล้วได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย และปราบปรามการเอาเปรียบ หลอกลวงนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย

4. เรื่อง Responsibility ต้องทำให้การท่องเที่ยวนั้นยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายที่พูดกันมานานแล้ว แต่ในปี 67 จะนำเรื่องนี้มาขับเคลื่อนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นจริงๆ การท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ต่อเมื่อท้องถิ่นต้องมาร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน

5. ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสานต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการเดินทางเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ปลายเดือนนี้ จะมีประเด็นพูดคุยที่สำคัญคือ ASEAN Connect ที่จะทำให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก

6. มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนด้านกีฬาพื้นฐาน โดยวางระบบการพัฒนาทั่วประเทศเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริม พัฒนาการการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา ทุกคนสามารถออกกำลังกายเป็นวิถีชีวิต สามารถเข้าถึงกีฬาได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งคนทั่วไป ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งจะมีการส่งเสริมกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กีฬาเพื่อการอาชีพที่จะต้องพัฒนากีฬาทุกระดับและบุคลากร

รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาเพิ่มสมรรถนะให้กับนักกีฬาไทยให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือกีฬาอาชีพ และต้องผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติและระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ สุดท้ายคือ E-Sport ถือเป็นกิจกรรมกีฬาใหม่ที่ต้องส่งเสริมเพราะสามารถสร้างทักษะให้กับเยาวชน และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก

7. การเตรียมพร้อมสำหรับมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ซึ่งปี 67 จะมีรายการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการทั้งการส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งขันกีฬา โอลิมปิกปารีส 2024 และการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน ได้แก่ เอเชียนอินดอร์ และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์, จักรยานยนต์โมโตจีพี, เจ็ตสกีชิงแชมป์โลก, ฮอนด้า แอลพีจี เอ ไทยแลนด์ 2024 รวมถึงการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 68 ซึ่งมี 3 จังหวัดร่วมเป็นเจ้าภาพ คือกรุงเทพ ชลบุรี และสงขลา

*ปี 66 จำนวนนทท.ทะลุเป้า แต่รายได้พลาดเป้า

สำหรับความสำเร็จของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 66 ที่ผ่านมา นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งสิ้น 28 ล้านคนเศษ เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

ส่วนรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวปี 66 ตั้งเป้าไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท แต่สรุปตัวเลขเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากปี 65

ส่วนผลงานด้านกีฬาในปี 66 นักกีฬาของไทยมีผลงานในชนิดกีฬาสากลที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการจัดกีฬาในระดับนานาชาติ ได้แก่ ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2023 ครั้งที่ 16 การแข่งขันรายการโมโตจีพี 2023 การจัดการแข่งขันรายการวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2023 ซึ่งทุกรายการมีแฟนกีฬาทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้าชมเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น และผู้ประกอบการได้เป็นจำนวนมาก

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.