Header Ads

แพทย์ ชี้ความเสี่ยงโรคหายาก “HAE” แนะขยายสวัสดิการ ‘ตรวจหาและรักษา’ เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในไทย

     

                                     

แพทย์ ชี้ความเสี่ยงโรคหายาก “HAE” แนะขยายสวัสดิการ ‘ตรวจหาและ

รักษา เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในไทย 


สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย เผยข้อมูลโรคเอชเออี (Hereditary angioedema หรือ HAE) หนึ่งในโรคหายากที่มีอุบัติการณ์ ต่อ 50,000 ถึง ต่อ 100,000 ของประชากรทั่วโลก และ โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการ ตั้งแต่เด็กจนถึงก่อนอายุ 20 ปี โดยมีลักษณะอาการบวมของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น มือ เท้า ปาก ใบหน้า ลิ้น คอ หน้าท้อง หรือบวมอวัยวะภายใน อีกทั้งประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคนี้เกิดอาการบวมที่กล่องเสียง เกิดการอุดตันทางเดินหายใจ ซึ่งมีความเสี่ยงถึงแก่ชีวิตได้อีกด้วย โดยอาการเหล่านี้มักเกิดจากการโดนกระตุ้นหรือกระทบกระแทกต่อร่างกาย ความเครียด และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาป้องกันและยายับยั้งฉุกเฉิน ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในประเทศไทย     ราว 100 คน แต่ในความเป็นจริง น่าจะมีผู้ป่วยจำนวนมากกว่านี้ ซึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรฐานได้ ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งชมรมผู้ป่วยโรค HAE แห่งประเทศไทย เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องโรค และเป็นพื้นที่ในการสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว โดยชมรมผู้ป่วยฯ และแพทย์ มุ่งผลักดันการขยายสิทธิในการรักษาให้ครอบคลุม เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถประเมินความเสี่ยงเป็นโรค HAE ได้ที่ https://th.knowhae.com/  

รศ.นพ.ฮิโรชิ จันทาภากุล นายกสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญและศึกษาเกี่ยวกับโรคหายาก (Rare Diseases) หรือโรคที่มีผู้ป่วยในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราสัดส่วนของประชากร ซึ่งโรค HAE เป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในโรคหายาก ในการตรวจวินิจฉัยโรค HAE สามารถทำได้ผ่านการตรวจหาปริมาณและการทำงานของโปรตีน C1-INH (C1 esterase inhibitor) ในเลือด โดยผู้ป่วย HAE จะมีปริมาณและ/หรือการทำงานของ C1-INH ที่ผิดปกติ โปรตีนดังกล่าวนี้ เป็นโปรตีนที่มีผลต่อสาร Bradykinin ที่ควบคุมกระบวนการบวมเมื่อร่างกายกระทบกระเทือน เกิดการบวมที่อวัยวะต่าง ๆ แบบคาดเดาไม่ได้ กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคจึงมีความสำคัญในกระบวนการค้นหาผู้ป่วย เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาผ่านการให้ยาป้องกันและยายับยั้งฉุกเฉินต่อไป  

ลักษณะอาการของโรค HAE จะมีอาการบวมบริเวณร่างกายภายนอกหรือบวมบริเวณเยื่อบุอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งอาจจะมีอาการปวดร่วมด้วย เช่น บวมบริเวณกระเพาะ หรือลำไส้ ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีผู้ป่วย HAE กว่าครึ่งที่มีอาการบวมบริเวณกล่องเสียงหรือหลอดลม และในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการอุดกั้นหายใจและอันตรายถึงชีวิต ขณะเดียวกันผู้ป่วย อาจมีอาการตึงที่ผิวหนัง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย คลื่นไส้ กระหายน้ำ ร่วมด้วย หากตัวคุณเองหรือคนในครอบครัวมีอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นซ้ำเป็นประจำโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะหากมีอาการครั้งแรกตั้งแต่ในวัยเด็กหรือวัยรุ่น หรือผู้ที่มีญาติได้รับการวินิจฉัยเป็นโรค HAE ควรเข้ารับการประเมินความเสี่ยงและตรวจวินิจฉัยเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการเข้าสู่กระบวนการรักษา รศ.นพ.ฮิโรชิ กล่าว 

รศ.นพ.ฮิโรชิ กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันยังคงมีช่องว่างในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอยู่มาก เนื่องจากสิทธิในการรักษานั้นครอบคลุมเฉพาะแค่สิทธิ์การรักษาพยาบาลของข้าราชการ จึงต้องช่วยกันผลักดันการขยายสิทธิ์การตรวจวินิจฉัยหาโรคและรักษาให้ครอบคลุมไปถึงสิทธิประกันสังคมและสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ในอนาคต ให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง รวมถึงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการศึกษาและวิจัยต่าง ๆ  เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ได้รู้จักโรค HAE มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด           ลดความเสี่ยงจากอาการรุนแรง และช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น”  

โรค HAE เป็นหนึ่งในโรคที่พบอุบัติการณ์ในประชากรทั่วโลก โดยการประชุม World Allergy Congress 2023 ที่จัดขึ้นในประเทศไทยได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรค HAE ในระดับภูมิภาคถึงวิธีการค้นหาผู้ป่วย การวินิจฉัยโรค แนวทางและการเข้าถึงการรักษา และการดูแลผู้ป่วย โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการลดภาระของโรคนี้คือ    การสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง เพื่อให้ทั้งผู้วางนโยบายทางด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนได้เข้าใจถึงภัยอันตรายของโรคอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อโรค HAE ที่พบผู้ป่วยไม่มากแต่สามารถสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนได้อย่างมาก 

ด้าน นางฐิติมน บูรพาอารยวงศ์ ผู้ป่วยโรคเอชเออี (HAE) เล่าถึงประสบการณ์ในการตรวจพบและรักษาว่า ตนเองและครอบครัวมีอาการ ที่คล้ายกัน ตั้งแต่ตนอายุประมาณ 13 ปี จนกระทั่งได้เข้ารับการประเมินอาการและตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโรค HAE ตอนอายุราว 29 ปี ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ไม่สามารถหาสาเหตุของอาการบวมทั้งภายในและภายนอกร่างกายได้ ตนเองและครอบครัวเครียดและกังวลมาก โดยเฉพาะอาการบวมภายในลำไส้ที่ส่งผลต่ออาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีผลต่อการใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากกิจกรรมบางอย่างจะกระตุ้นอาการของโรคดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรค HAE จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ารับวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา ผ่านการให้ยาป้องกันและยายับยั้งฉุกเฉิน การดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัด ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและไม่รุนแรง และอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาการของโรคมีความเสี่ยงถึงชีวิตได้  

ในประเทศไทยได้จัดตั้งชมรมผู้ป่วยโรค HAE แห่งประเทศไทย (Hereditary Angioedema Thailand) ภายใต้การดูแลของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ แนวทางการรักษา และเปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มาเสริมสร้างกำลังใจต่อกัน ผลักดันให้มีการตรวจคัดกรองโรค HAE ภายในครอบครัว รวมถึงเป็นองค์กรในการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พร้อมเป็นกระบอกเสียงไปยังหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนสิทธิในการเบิกรักษายาป้องกันและยายับยั้งฉุกเฉินที่มีราคาสูง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็อยากผลักดันให้ HAE เป็นโรคที่คนรู้จักมากขึ้น ผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้สังเกตอาการตัวเอง และเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เพราะเราไม่อยากให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” นางฐิติมน กล่าวทิ้งท้าย 

 ### 

เกี่ยวกับทาเคดา ฟาร์มาซูติคอลส์ 

ทาเคดา มุ่งมั่นในการส่งมอบสุขภาพที่ดีกว่าและอนาคตที่สดใสให้แก่ผู้คนทั่วโลก ผ่านการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มโรค ระบบทางเดินอาหาร โรคหายาก ผลิตภัณฑ์จากพลาสม่า มะเร็งวิทยา ประสาทวิทยา และวัคซีน เรายังได้ทำงานผ่านความร่วมมือที่หลากหลายเพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ในการรักษา รวมทั้งพัฒนาการเข้าถึงการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในฐานะของบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทาเคดา ตั้งมั่นในการทำงานเพื่อผู้ป่วย เพื่อพนักงาน และเพื่อโลกใบนี้ ซึ่งพนักงานของเราในในพื้นที่กว่า 80 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลกขับเคลื่อนการทำงานด้วยคุณค่าขององค์กรที่มีมามากกว่า ศตวรรษ 

เกี่ยวกับทาเคดา ประเทศไทย 

ทาเคดา ประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยเป็นสาขาลำดับที่สองภายใต้แผนขยายของทาเคดาทั่วโลก กลุ่มธุรกิจหลักของทาเคดา ประเทศไทย ประกอบด้วยนวัตกรรมที่มุ่งแสวงหาวิธีการรักษาที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วย ภายใต้กลุ่มธุรกิจหลักได้แก่ โรคทางเดินอาหาร มะเร็งวิทยา โรคหายากด้านพันธุกรรมและภูมิคุ้มกัน ผลิตภัณฑ์จากพลาสม่า และวัคซีน 


No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.