Header Ads

ส่งออก พ.ย.ฟื้นตัวต่อเนื่อง โต 4.9% บวก 4 เดือนติด รวม 10 เดือนลบ 1.5%

 img


ส่งออก พ.ย.ฟื้นตัวต่อเนื่อง โต 4.9% บวก 4 เดือนติด รวม 10 เดือนลบ 1.5%


“พาณิชย์”เผยส่งออก พ.ย.66 มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.9% บวกต่อเนื่อง 4 เดือนติด โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 7.7% อุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 1.7% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.4% ส่วนยอดรวม 11 เดือน เหลือติดลบ 1.5% คาดเดือน ธ.ค. ยังส่งออกได้ดี มีลุ้นทั้งปีติดลบน้อยกว่า 1.5% แน่นอน อาจจะลบ 1% หรือต่ำกว่าก็ได้
         
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน พ.ย.2566 มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.9% เป็นบวกต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 847,486.1 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 944,873.4 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 97,387.3 ล้านบาท รวมการส่งออก 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 261,770.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 1.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 9,013,183.8 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 3.8% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 9,341,112.1 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 327,928.3 ล้านบาท
        
การส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 4.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 7.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 1.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผักกระป๋องและผักแปรรูป ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง กุ้งต้มสุกแช่เย็น ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 11 เดือนของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลด 0.5%
         
สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ทั้งนี้ 11 เดือนของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ลด 1.5%
         
ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญ หลายตลาดเพิ่มขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่บางตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางภาวการณ์ชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยตลาดหลัก เพิ่ม 4.7% จากตลาดสหรัฐฯ เพิ่ม 17.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 4.3% และอาเซียน (5) เพิ่ม 12.9% แต่จีน สหภาพยุโรป (27) และ CLMV ลด 3.9% , 5.0% และ 7.6% ตามลำดับ ตลาดรอง เพิ่ม 4.1% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 5.0% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 10.9% และรัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 88.4% ส่วนตะวันออกกลาง ลด 4.5% แอฟริกา ลด 1.4% ลาตินอเมริกา ลด 4.2% และสหราชอาณาจักร ลด 15.0% และตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 63.1% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 77.9%       

นายกีรติกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในเดือน ธ.ค.2566 ที่เหลืออีก 1 เดือน คาดว่าแนวโน้มจะยังทำได้ดี และมีโอกาสที่การส่งออกทั้งปีจะขยายตัวติดลบน้อยกว่า 1.5% โดยดูสถิติของเดือน ธ.ค. ย้อนหลัง 5 ปี พบว่าส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าได้เท่านี้ ก็จะติดลบ 1% บวกลบ แต่ถ้าได้ 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะติดลบ 0.8% และตามตัวเลขที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประเมิน ถ้าได้ 25,654 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 0%
         
สำหรับปัญหาการส่งออกผ่านทางทะเลแดง ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะมีการส่งออกสินค้าไปแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 ที่ผ่านมา แต่ถ้าจะมีผลกระทบ ก็จะเป็นการส่งออกในช่วงเดือน ม.ค.2567 ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ถ้าไม่ยืดเยื้อ ก็จะไม่มีผลกระทบ โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้นัดประชุมร่วมกับสายการเดินเรือ วันที่ 26 ธ.ค.2566 เพื่อติดตามสถานการณ์ และขอความร่วมมือพิจารณาเรื่องการปรับราคาอย่างเป็นธรรม เพราะหากจำเป็นต้องขึ้น ก็ขอให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผู้ส่งออกเข้าใจสถานการณ์อยู่แล้ว แต่บริหารจัดการได้ ก็ขอให้ช่วยบริหารจัดการให้เหมาะสม
         
ส่วนเป้าหมายการส่งออกปี 2567 เบื้องต้นได้กำหนดไว้ที่ประมาณ 2% หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว แต่ตัวเลขเป้าหมายจริง ต้องรอผลการส่งออกเดือน ธ.ค.2566 ก่อน และจากนั้นจะประเมินปัจจัยภายใน ภายนอก และดูว่าเป้าหมายควรจะเป็นเท่าใด
         
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน พ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 4.9% เป็นการกลับมาเป็นบวกต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ การส่งออกติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 10 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ที่ลดลง 4.2% พ.ย.2565 ลด 5.6% ธ.ค.2565 ลด 14.3% ม.ค.2566 ลด 4.6% ก.พ.2566 ลด 4.8% มี.ค.ลด 4.2% เม.ย.2566 ลด 7.7% พ.ค.ลด 4.6% มิ.ย. ลด 6.5% ก.ค.ลด 6.2% และกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในเดือนส.ค.2566 ที่ 2.6% ก.ย. เพิ่ม 2.1% และ ต.ค.เพิ่ม 8%

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.