Header Ads

สนค.เผยการค้าหมูทั่วโลกยังโต โอกาสไทยส่งออก แต่ต้องเข้มคุณภาพ-มาตรฐาน

 img


สนค.เผยการค้าหมูทั่วโลกยังโต โอกาสไทยส่งออก แต่ต้องเข้มคุณภาพ-มาตรฐาน


สนค.วิเคราะห์สถานการณ์การค้าสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ของโลก พบมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แม้จะเผชิญความท้าทาย ทั้งโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกา มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ชี้เป็นโอกาสในการส่งออกของไทย บนเงื่อนไข ไทยต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า ทำปศุสัตว์แบบกรีนฟาร์ม ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ดูแลเรื่องอาหารสัตว์ ทำแผนจัดการมูลสัตว์ หาตลาดเพิ่มเติม และให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการค้ายุคใหม่
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ของโลกในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2562–2565) พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวเฉลี่ย 6.2% ต่อปี มีประเทศผู้นำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เม็กซิโก และเยอรมนี มีมูลค่ารวมประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท ส่วนไทยไม่ใช่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์หลักของโลก โดยในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 6,000 ล้านบาท แยกเป็นสุกรและผลิตภัณฑ์ 54,000 ตัน และสุกรมีชีวิต 120,000 ตัว และมีสัดส่วนการส่งออกเพียง 0.17% ของมูลค่าการส่งออกทั่วโลก
         
สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออก แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.สินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ 98.32% มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น สัดส่วน 31.7% จีน สัดส่วน 26.3% กัมพูชา สัดส่วน 23.7% ฮ่องกง สัดส่วน 5.9% และเมียนมา สัดส่วน 5.3%  ตามลำดับ และ 2.สุกรมีชีวิต 1.68% มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ เมียนมา สัดส่วน 61.5% สปป.ลาว สัดส่วน 32.2% และกัมพูชา สัดส่วน 6.2% ตามลำดับ และในช่วง 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกสุกรมีชีวิตและสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ มีมูลค่า 6,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%
         
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการบริโภคสินค้าสุกรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ประเทศผู้ผลิตในหลายพื้นที่ยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศต่าง ๆ พยายามหาวิธีควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ และยังมีมาตรการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากการทำปศุสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีบทบาทสำคัญในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะมหาอำนาจทางการค้าอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีการกำหนดมาตรการทางการค้าเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
         
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการของตลาดโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกของไทย โดยไทยต้องเร่งยกระดับสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทยให้ครองใจตลาดโลก โดยจะต้องมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตและการค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การให้ความรู้ด้านการผลิตที่มีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น มาตรฐาน GAP มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ อาทิ Organic Thailand , IFOAM , EU , USDA , และ JAS ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะมีส่วนช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดในสุกรได้
         
นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีนวัตกรรมที่จำเป็น เช่น การทำปศุสัตว์แบบกรีนฟาร์ม โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ลดกลิ่น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมให้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) มาใช้ เช่น ระบบ RFID รหัสคิวอาร์ เทคโนโลยี IoT หรือบล็อกเชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย
         
ส่วนมาตรการอื่น ๆ ต้องหารือแนวทางการบริหารจัดการต้นทุนร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ราคาต้นทุนอาหารสัตว์ การส่งเสริมให้ผู้ผลิตจัดทำแผนการจัดการมูลสัตว์ (Manure Management Plan) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถนำมูลสุกรมาแปรรูปเป็นปุ๋ย ช่วยเสริมรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยมูลสุกรได้อีกทางหนึ่ง การผลักดันการเปิดตลาดสินค้าสุกร ซึ่งล่าสุด ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC 2023) เมื่อเดือน พ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการหารือกับนายหวัง โช่วเหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ขอให้จีนเร่งกระบวนการพิจารณาเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ให้กับไทย และการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แนวโน้มทิศทางการค้าในโลกยุคใหม่ เช่น ประชาคมโลกให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ซึ่งการทำปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น ต้องให้ข้อมูลความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อสามารถปรับปรุงการดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลกที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.