Header Ads

ส่องแนวโน้มราคาข้าวโลก ปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป

                        

ส่องแนวโน้มราคาข้าวโลก ปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อไทย

ในระยะต่อไป

ราคาข้าวโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี   

ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี โดย ณ วันที่ 9 ส.ค. ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทย ซึ่งถูกใช้เป็นราคาข้าวอ้างอิงในตลาดโลก ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 50.3% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2022 มาอยู่ที่ 648 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน 

3 ปัจจัยสำคัญ ผลักดันราคาข้าวโลกในช่วงที่ผ่านมา

SCB EIC พบว่า มี 3 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ (1) นโยบายควบคุม

การส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก (2) ตลาดข้าวโลกเผชิญภาวะขาดดุล กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง และ (3) การกลับมาของปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตข้าวของอินเดียและไทยในฤดูกาลผลิตหน้า 

SCB EIC ประเมินแนวโน้มราคาข้าวโลกออกเป็น 2 กรณี ขึ้นกับความรุนแรงของเอลนีโญและการดำเนินนโยบายส่งออกข้าวของอินเดีย 

ในระยะต่อไป ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ความรุนแรงของภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญและความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายระงับส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งจากความไม่แน่นอนดังกล่าว  SCB EIC จึงได้ประเมินแนวโน้มราคาข้าวโลก ออกเป็น 2 กรณี คือ 1) กรณีฐาน (Base case) เกิดเอลนีโญระดับรุนแรง และอินเดียระงับการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวไปจนถึงเดือน ต.ค. 2024 แต่ยังคงอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้บางส่วน มีการส่งออกข้าวนึ่งเพื่อทดแทนข้าวขาวที่ถูกระงับส่งออกและมีการเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง และ 2) กรณีรุนแรง (Severe case) เกิดเอลนีโญระดับรุนแรงมาก  และระยะเวลาการระงับส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวของอินเดียเท่ากับกรณีฐาน แต่รัฐบาลอินเดียไม่อนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ พร้อมทั้งมีการระงับการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่มเติม

ในกรณีฐาน SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 35%YOY ในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 และ 15%YOY ในปี 2024

ราคาข้าวโลกเฉลี่ยในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 594 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 626 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2024  เนื่องจากในกรณีฐาน คาดว่าการเกิดเอลนีโญระดับรุนแรงและนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้ของประเทศผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลกปรับตัวลดลง 7.3 ล้านตัน หรือคิดเป็น 13.0% ของปริมาณการค้าข้าวโลก ขณะที่ปริมาณสต็อกข้าวโลกคาดว่าจะปรับตัวลดลง 0.9% 

หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 50%YOY ในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 และ 36%YOY ในปี 2024 

ในกรณีรุนแรง ราคาข้าวโลกเฉลี่ยในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 662 ดอลลาร์สหรัฐ

ต่อตัน และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 777 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2024 ซึ่งเป็นระดับราคาเฉลี่ยทั้งปี

ที่สูงกว่าปี 2008 ที่เกิดวิกฤติราคาข้าวโลก เนื่องจากในกรณีรุนแรง คาดว่า เอลนีโญระดับรุนแรงมากและนโยบายระงับการส่งออกข้าวจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้ของประเทศผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลกปรับตัวลดลงมากถึง 21.0 ล้านตัน หรือคิดเป็น 37.4% ของปริมาณการค้าข้าวโลก อีกทั้ง คาดว่าปริมาณสต็อกข้าวโลกจะปรับตัวลดลงสูงถึง 9.3% ผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก

ราคาข้าวโลกที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยกรณีรุนแรงมีโอกาสแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14,663 บาทต่อตัน 

ราคาข้าวโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไทยมีการส่งออกข้าวไปตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 38.6% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด โดยในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.6%YOY และ 42.5%YOY ในกรณีฐานและกรณีรุนแรง ตามลำดับ สำหรับในปี 2024 คาดว่า ในกรณีฐาน ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.9%YOY ส่วนกรณีรุนแรงราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 30.6%YOY มาอยู่ที่ 14,663 บาทต่อตัน ซึ่งนับเป็นราคาที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ของไทย

SCB EIC มองราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป 

ข้าวถือเป็นอาหารสำคัญของครัวเรือนไทย ดังนั้น ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป โดย SCB EIC ประเมินราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ส.ค. - ธ.ค. 2023) 0.45% (Percentage point) และ 0.66% ในกรณีฐานและกรณีรุนแรง ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2024 ราคาข้าวที่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปของไทย 0.38% ในกรณีฐาน และอาจสูงถึง 0.91% ในกรณีรุนแรง 

ราคาข้าวโลกพุ่งสูงขึ้นจากสาเหตุใด? 

ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี และแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี ในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทย ซึ่งถูกใช้เป็นราคาข้าวอ้างอิงในตลาดโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 50.3% จาก 431 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือน ส.ค. 2022 มาอยู่ที่ 648 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 : ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี ในช่วงต้นเดือน ส.ค. 

ที่ผ่านมา  

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ World Bank และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

SCB EIC พบว่า มี 3 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

1) นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย นโยบายส่งออกข้าวของอินเดียจะกระทบต่อราคาข้าว

ในตลาดโลก เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งตลาดราว 39% ของปริมาณการค้าข้าวโลก โดยในเดือน ก.ย. 2022 อินเดียได้ประกาศระงับการส่งออกปลายข้าวและจำกัดการส่งออก ข้าวขาว ข้าวเปลือกและข้าวกล้องด้วยการเก็บภาษีการส่งออก 20% อย่างไม่มีกำหนด เพื่อให้ผลผลิตข้าวมีเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย : หน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย) ซึ่งนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกปลายข้าวของอินเดียระหว่างเดือน ต.ค. 2022 - มิ.ย. 2023 ปรับตัวลดลงถึง 2.5 ล้านตันหรือราว 70.4%YOY และมีส่วนทำให้ราคาข้าวโลกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 17.3%YOY และเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อินเดียยังได้มีการประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติอย่างไม่มีกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวขาวของอินเดียราว 6 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 10.7% ของปริมาณการค้าข้าวโลก (รูปที่ 2) ซึ่งการออกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในช่วงต้นเดือน ส.ค. นอกจากนี้ ล่าสุดในวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ประกาศนโยบายเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่งในอัตรา 20% ไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค. 2023  ซึ่งนโยบายนี้จะมีส่วนทำให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ในระยะสั้น ตามกรอบเวลาในการบังคับใช้  

รูปที่ 2 : อินเดียมีนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวมาตั้งแต่ช่วง ก.ย. 2022 โดยนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดียกระทบต่อปริมาณการค้าข้าวโลกในระดับสูง 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Ministry of commerce India

2) ตลาดข้าวโลกมีแนวโน้มเผชิญภาวะขาดดุลมากขึ้น กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง ในปีการผลิต 2022/2023 (ต.ค. 22 - ก.ย. 23) ความต้องการบริโภคข้าวโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของประชกรโลกและความต้องการใช้ข้าวในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สวนทางกับปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะผลผลิตข้าวในปากีสถาน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 4 ของโลก (สัดส่วน 8.1%) ที่ผลผลิตปรับตัวลดลงรุนแรงจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งความต้องการบริโภคข้าวที่มากกว่าปริมาณผลผลิตดังกล่าว ส่งผลให้โลกต้องใช้ข้าวส่วนขาดจากสต็อกข้าวที่มีอยู่ กดดันให้ปริมาณสต็อกข้าวโลกปรับลดลง และผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : ตลาดข้าวโลกเผชิญภาวะขาดดุล กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ USDA

3) การกลับมาของปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตข้าวของอินเดียและไทยในฤดูกาลผลิต 2023/2024 (ต.ค. 23 - ก.ย. 24) ทั้งนี้จากข้อมูลดัชนี ONI (Oceanic Nino Index) บ่งชี้ว่าโลกเผชิญปรากฎการณ์เอลนีโญมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2023 โดยสถาบัน International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย คาดว่าโลกอาจจะต้องเผชิญกับปรากฎการณ์ดังกล่าวยาวนานจนถึง เม.ย. ปี 2024  (รูปที่ 4) ซึ่งปรากฎการณ์เอลนีโญ จะทำให้เกิดภาวะฝนแล้งในไทยและอินเดียและส่งผลให้ผลผลิตข้าวของทั้งสองประเทศปรับตัวลดลง ซึ่งการที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกอย่างอินเดียมีนโยบายควบคุมการส่งออกข้าว ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกอย่างไทย อาจมีผลผลิตข้าวเพื่อส่งออกน้อยลง ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนข้าวในตลาดโลก เนื่องจากปริมาณการส่งออกข้าวของทั้งสองประเทศมีสัดส่วนมากถึงกว่าครึ่งหนึ่ง (53.1%) ของปริมาณการค้าข้าวทั้งหมดในตลาดโลก ผลักดันให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา   

รูปที่ 4 : โลกเผชิญปรากฎการณ์เอลนีโญมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2023 โดยสถาบัน IRI คาดว่าโลก

อาจจะต้องเผชิญปรากฎการณ์ดังกล่าวไปจนถึง เม.ย. ปี 2024  

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ NOAA และ IRI

แนวโน้มราคาข้าวโลกในช่วงที่เหลือของปี 2023 และปี 2024  

SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป แต่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ 1) ความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบาย

และพัฒนาการของนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย เช่น การอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือการระงับการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่มเติมของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งการออกนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งปริมาณและราคาข้าวในตลาดโลก 2) การปรับตัวของผู้ส่งออกข้าวอินเดียและผู้นำเข้าข้าวขาวจากอินเดีย โดยผลกระทบของนโยบายจะบรรเทาความรุนแรงลง หากผู้ส่งออกข้าวขาวของอินเดียมีการส่งออกข้าวนึ่งเพื่อทดแทนข้าวขาวที่ถูกระงับ 3) ความรุนแรงของภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวของไทยและอินเดียชัดเจนมากขึ้นในฤดูกาลผลิตหน้า (2023/2024) 4) นโยบายควบคุมการส่งออกข้าว

ของประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ที่จะส่งผลต่อปริมาณการค้าและราคาข้าวในตลาดโลก ซึ่งจากความไม่แน่นอนทั้ง 4 ด้านดังกล่าว SCB EIC จึงได้ประเมินแนวโน้มราคาข้าว ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้ 

กรณีฐาน : อินเดียระงับการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวต่อไปจนถึงเดือน ต.ค 2024 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ของอินเดียจะออกสู่ตลาด แต่ยังคงมีการอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้บางส่วน  มีการส่งออกข้าวนึ่งเพื่อทดแทนข้าวขาวที่ถูกระงับส่งออกและมีการเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง 20% ไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค. 2023 ตามที่ได้ประกาศไว้ นอกจากนี้ กำหนดให้เกิดเอลนีโญระดับรุนแรงในช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. 2023 (ฤดูกาลหลักในการปลูกข้าวของไทยและอินเดีย) สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสถาบันวิจัย IRI ณ  ก.ค. 2023 

กรณีรุนแรง : ระยะเวลาระงับการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวของอินเดียเท่ากับกรณีฐาน แต่รัฐบาลอินเดียไม่อนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีการระงับการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่มเติมนับตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2023 ไปจนถึง ต.ค. 2024  และกำหนดให้เกิดเอลนีโญระดับรุนแรงมากในช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. 2023 

ในกรณีฐาน SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.6%YOY มาอยู่ที่ 594 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023  และเพิ่มขึ้น 15.1%YOY มาอยู่ที่ 626 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2024 

(รูปที่ 5) เนื่องจากในกรณีฐาน คาดว่า เอลนีโญระดับรุนแรง จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกิน ของประเทศ

ผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลก (อินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน) ปรับตัวลดลงจาก 41.6 ล้านต้นมาอยู่ที่ 37.0 ล้านตัน (ตารางที่ 1) หรือปรับตัวลดลง 4.6 ล้านตัน คิดเป็น 8.2% ของปริมาณการค้าข้าวโลก โดยนโยบายระงับ

การส่งออกข้าวของอินเดียจะยิ่งส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้  ปรับตัวลดลงอีกมาอยู่ที่ 34.3 ล้านตัน หรือปรับตัวลดลง 7.3 ล้านตัน คิดเป็น 13.0% ของปริมาณการค้าข้าวโลก นอกจากนี้ ในกรณีฐาน คาดว่า เอลนีโญ

จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวโลกไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตข้าวที่ลดลงในบางพื้นที่ เช่น ไทยและอินเดีย 

จะถูกชดเชยด้วยผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ปากีสถาน  และจีน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวโลกในปีการผลิต 2023/2024 จะยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1.5% มาอยู่ที่ 520.1 ล้านตัน แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 521.6 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้มีการขาดดุลอยู่อีกราว 1.5 ล้านตัน กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง 0.9% (รูปที่ 6)

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 49.8%YOY มาอยู่ที่ 662 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023  และเพิ่มขึ้น 35.9%YOY มาอยู่ที่ 777 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในปี 2024 ซึ่งเป็นระดับราคาเฉลี่ยทั้งปีที่สูงกว่าปี 2008 ที่เกิดวิกฤติราคาข้าวโลก เนื่องจากในกรณีรุนแรง คาดว่า เอลนีโญระดับรุนแรงมาก จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกิน ของประเทศผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลก ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 22.5 ล้านตัน หรือปรับตัวลดลงสูงถึง 19.1 ล้านตัน คิดเป็น 34.0% ของปริมาณการค้าข้าวโลก โดยนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดียจะยิ่งส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้  ปรับตัวลดลงอีกมาอยู่ที่ 20.6 ล้านตัน หรือปรับตัวลดลง 21.0 ล้านตัน คิดเป็น 37.4% ของปริมาณการค้าข้าวโลกนอกจากนี้ ในกรณีรุนแรง คาดว่า ผลผลิตข้าวโลกจะปรับตัวลดลง 1.4% กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง 9.3% ผลักดันให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น 

รูปที่ 5 : SCB EIC คาดว่า ในกรณีฐาน ราคาข้าวโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 34.6%YOY ในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 และ 15.1%YOY ในปี 2024   

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ  USDA, FAO และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  

ตารางที่ 1 : การเกิดเอลนีโญ ประกอบกับนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย จะกระทบต่อปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดการค้าข้าวโลกและสต็อกข้าวโลกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกรณีรุนแรง 

หมายเหตุ : *กำหนดให้มีการอนุญาตให้ส่งออกข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 25.3% ของปริมาณข้าวที่ถูกระงับส่งออก (สัดส่วนเดียวกันกับปริมาณการส่งออกปลายข้าวในช่วงที่มีนโยบายระงับการส่งออก), **กำหนดให้มีการส่งออกข้าวนึ่ง 77.9% ของปริมาณข้าวขาวที่ถูกระงับส่งออก (สัดส่วนเดียวกันกับการส่งออกข้าวขาวเพื่อทดแทนปลายข้าว), ***ส่งออกข้าวบาสมาติเพียงอย่างเดียว 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ USDA, IRI, กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

รูปที่ 6 : เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวโลกไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตข้าวที่ลดลงในบางพื้นที่ เช่น ไทยและอินเดีย จะถูกชดเชยด้วยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ปากีสถานและจีน

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ USDA

ราคาข้าวเปลือกมีโอกาสแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

SCB EIC คาดว่า ในกรณีฐาน ราคาข้าวเปลือกโดยเฉลี่ยในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.6%YOY ส่วนในปี 2024 ราคาจะปรับตัวเพิ่มขั้น 12.9%YOY โดยราคาข้าวโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว 

จะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไทยมีการส่งออกข้าวไปตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 38.6% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดในปี 2022 โดยในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 ในกรณีฐาน ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.6%YOY มาอยู่ที่ 11,868 บาทต่อตัน ในขณะที่ในกรณีรุนแรง ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 42.5%YOY มาอยู่ที่ 13,058 บาทต่อตัน สำหรับในปี 2024 คาดว่า ในกรณีฐาน ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.9%YOY มาอยู่ที่ 12,116 บาทต่อตัน ส่วนกรณีรุนแรงราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 30.6%YOY มาอยู่ที่ 14,663 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นระดับราคาข้าวเปลือกที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (รูปที่ 7)

รูปที่ 7 : ในกรณีฐาน ราคาข้าวเปลือกโดยเฉลี่ยในช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2023 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.6%YOY ส่วนในปี 2024 ราคาจะปรับตัวเพิ่มขั้น 12.9%YOY 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 

นัยต่อเงินเฟ้อไทย  

ปฎิเสธไม่ได้ว่าข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย ดังนั้น ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป ข้าวเปลือกเป็นต้นทุนหลักในการผลิตข้าวสาร ทำให้ในช่วงที่ราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อไทยผ่านค่าใช้จ่ายผู้บริโภคเกี่ยวกับข้าว ในระยะต่อไปคาดว่า ผู้ค้าข้าวสารในประเทศจะเริ่มส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นสะสมของราคาข้าวเปลือกจะกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นสะสมของอัตราเงินเฟ้อหมวดที่เกี่ยวกับข้าว ส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการหดตัวหากไม่มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภค 

ในการจัดเก็บข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) จากกระทรวงพาณิชย์ ข้าวจัดอยู่ในกลุ่มสินค้า

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และมีสัดส่วนน้ำหนักอยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อที่ราว 3.2%  จากสัดส่วนสินค้าทั้งหมด (ปีฐาน 2019) ซึ่งในกรณีฐาน SCB EIC ประเมินราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปี (ส.ค. - ธ.ค.) 0.26%YOY แต่ในกรณีเหตุการณ์รุนแรง เงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 0.37% 

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่กล่าวไปคำนึงถึงเพียงผลโดยตรงจากราคาข้าวที่มีผลต่อดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค 

แต่ในความเป็นจริงราคาข้าวที่เปลี่ยนแปลงไปจะมีผลต่อกลุ่มสินค้าหมวดอื่นด้วย (Second-round effect) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูป (อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน) โดย SCB EIC ประเมินผลรวมจากราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปี 0.45% และ 0.66% ในกรณีฐานและกรณีรุนแรง ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2024 ราคาข้าวที่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มขึ้น 0.38% ในกรณีฐาน และอาจสูงถึง 0.91% ในกรณีรุนแรง 

ดังนั้น ในภาพรวมราคาข้าวเปลือกที่จะทยอยปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากหลายปัจจัยดังที่กล่าวไป นับว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปี 2024 นับเป็นโจทย์ท้าทายหนึ่งในโจทย์แรก ๆ ด้านค่าครองชีพที่เป็นการบ้านรอต้อนรับรัฐบาลชุดใหม่ 

บทวิเคราะห์โดย... http://www.scbeic.com/th/detail/product/rice-market-310823

ผู้เขียนบทวิเคราะห์

ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี (kaittisak.kumse@scb.co.th)             

นักวิเคราะห์อาวุโส

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) 

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส        

INDUSTRY ANALYSIS

ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ

รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) 

และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ปราณิดา ศยามานนท์

ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis

โชติกา ชุ่มมี

ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและ

อุตสาหกรรมการผลิต


ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี

นักวิเคราะห์อาวุโส

จิรภา บุญพาสุข

นักวิเคราะห์

ดร.ฐิติมา ชูเชิด

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ

และตลาดการเงิน

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ 

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์ 

นักวิเคราะห์ 

ณิชนันท์ โลกวิทูล

นักวิเคราะห์

ปัณณ์ พัฒนศิริ

นักวิเคราะห์

วิชาญ กุลาตี

นักวิเคราะห์

ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา

นักวิเคราะห์


No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.