Header Ads

แอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี เผยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซล เดล เดเซียร์โตในชิลี จ่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่านำรถ 47,000 คันออกจากท้องถนนต่อปี

 

แอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี เผยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซล เดล เดเซียร์โตในชิลี จ่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่านำรถ 47,000 คันออกจากท้องถนนต่อปี

 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ตั้งอยู่ในชุมชนมาเรีย อีเลนา ในภูมิภาคอันโตฟากัสตา ประเทศชิลี และสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีโมดูลแบบสองหน้า โดยมีกำลังการผลิตรวม 244 เมกะวัตต์พีค และจะมอบพลังงานสะอาดให้กับกริดไฟฟ้า นอกจากนั้นยังมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับเอ็นจี เอเนอร์เจีย ชิลี และจะสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลชิลีในการลดการปล่อยคาร์บอน

แอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี (Atlas Renewable Energy) บรรลุอีกหนึ่งหลักชัยสำคัญบนเส้นทางสู่การนำพลังงานสะอาดมาใช้ในชิลี ด้วยการเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นั่นคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซล เดล เดเซียร์โต (Sol del Desierto) ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนมาเรีย อีเลนา ภูมิภาคอันโตฟากัสตา และมีกำลังการผลิตรวม 244 เมกะวัตต์พีค (MWp) ด้วยจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ทั้งสิ้น 582,930 แผง บนพื้นที่กว่า 479 เฮกตาร์ โดยจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 714 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี โครงการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญภายใต้แผนการลดการปล่อยคาร์บอนของกระทรวงพลังงานชิลี ซึ่งพยายามที่จะเลิกใช้ และ/หรือ เปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าถ่านหินครึ่งหนึ่งของประเทศให้ได้ภายในปี 2568

โครงการนี้ได้เริ่มเปิดดำเนินการแล้ว และมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระยะยาวระหว่างแอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี กับเอ็นจี เอเนอร์เจีย ชิลี (Engie Energia Chile) โดยจะมีการจัดหาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 550 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีเป็นระยะเวลา 15 ปี นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังสามารถจัดหาพลังงานสะอาดให้กับประชาชนได้มากถึง 345,198 หลังคาเรือน

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซล เดล เดเซียร์โต สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 368,000 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการนำยานพาหนะกว่า 47,000 คันออกจากท้องถนนต่อปี ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีความโดดเด่นในแง่ของประสิทธิภาพ อันเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีโมดูลแบบสองหน้า (Bifacial) ซึ่งช่วยให้สามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์จากทั้งด้านหน้าและด้านหลังของแผงโซลาร์เซลล์

โครงการนวัตกรรมระดับนานาชาติ

อัลเฟรโด โซลาร์ (Alfredo Solar) ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศชิลี กล่าวว่า "แอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี พัฒนาโครงการด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าต่อสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมโดยรอบ และเปิดรับความหลากหลาย นั่นคือเหตุผลที่โซล เดล เดเซียร์โต ไม่เพียงโดดเด่นในด้านการสนับสนุนพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังโดดเด่นด้านความใส่ใจต่อธรรมชาติโดยรอบ การอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี และเหนือสิ่งอื่นใดคือการให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับแรงงานสตรีในภาคการก่อสร้าง"

ดังนั้น การพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงช่วยส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยตอกย้ำงานที่แอตลาสและพนักงานได้ทำร่วมกับชุมชนมาเรีย อีเลนา ผ่านโครงการริเริ่มต่าง ๆ ที่มุ่งส่งเสริมความหลากหลาย การยอมรับความแตกต่าง และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น

หนึ่งในโครงการที่โดดเด่นที่สุดคือ โครงการ "เราเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานเดียวกัน" (We are part of the same energy) ซึ่งให้การฝึกอบรมทักษะทางเทคนิคด้านการประกอบแผงโซลาร์เซลล์และด้านไฟฟ้าแก่สตรี 66 คนในชุมชน เพื่อให้มีโอกาสได้ทำงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ตลอดจนโครงการอื่น ๆ ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่ และจากการจัดโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้มีผู้หญิง 135 คนได้เข้าร่วมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซล เดล เดเซียร์โต ทั้งในฝ่ายปฏิบัติการและควบคุมตรวจสอบ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จาก 2% เป็น 15%

นอกจากนี้ ด้วยความยึดมั่นในพันธกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม การเคารพในธรรมชาติและชุมชน แอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี ยังได้จัดโครงการต่าง ๆ เพื่อปกป้องวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น หนึ่งในนั้นคือโครงการปกป้องเส้นทางเดินรถ เส้นทางเดินป่า และเส้นทางรถไฟสายมรดก ซึ่งเคยใช้งานในช่วงยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมดินประสิวในชิลี นอกจากนั้นยังมีการรวบรวมวัตถุ 42 ชิ้นที่เป็นประจักษ์พยานถึงชีวิตประจำวันของยุคนั้น เพื่อทำการศึกษาในซานติอาโก และจะขนย้ายไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในอันโตฟากัสตา ขณะเดียวกันยังมีโครงการช่วยเหลือ ย้ายถิ่น และติดตามกิ้งก่าที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่โครงการโซล เดล เดเซียร์โต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ก่อนสร้างโรงไฟฟ้า

แผนการลงทุนในชิลี

ชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงความต้องการแหล่งพลังงานสะอาดต้นทุนต่ำที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคภาคเอกชนรายใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นต้น โดยแอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี กำลังทุ่มทุนในตลาดนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี ได้พัฒนาโครงการต่าง ๆ ในชิลี โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในระยะยาวทั้งสำหรับคู่ค้าและลูกค้า โดยในชิลีนั้น บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 441 เมกะวัตต์ ส่วนในภูมิภาคอยู่ที่ 2,268 เมกะวัตต์ ครอบคลุมโครงการที่มีการทำสัญญาในชิลี เม็กซิโก บราซิล และอุรุกวัย ซึ่งจะผลักดันภูมิภาคลาตินอเมริกาให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าเสริมแกร่งสถานะของตนเองในประเทศต่าง ๆ ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ รวมถึงรุกขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ผ่านโครงการพลังงานยั่งยืนที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม

เกี่ยวกับแอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี

แอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี เป็นบริษัทผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ทำการพัฒนา สนับสนุนเงินทุน ก่อสร้าง และดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียนตามสัญญาระยะยาวทั่วทวีปอเมริกามาตั้งแต่ต้นปี 2560 โดยมีทีมงานที่ได้สั่งสมประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของภูมิภาคลาตินอเมริกามาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ บริษัทยังโด่งดังในเรื่องการใช้มาตรฐานระดับสูงในการพัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินโครงการขนาดใหญ่

แอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนเอเนอร์จี ฟันด์ 4 (Energy Fund IV) ซึ่งก่อตั้งโดยแอคทิส (Actis) กองทุนเอกชนชั้นนำที่ทำการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยแอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี เน้นการเติบโตในตลาดที่มีเสถียรภาพสูงในภูมิภาค โดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนา การตลาด และการจัดการโครงสร้าง เพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแข็งขันคือหัวใจสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ขององค์กร และบริษัทตั้งใจดำเนินงานในทุก ๆ วันเพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่สะอาดกว่าเดิม

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอตลาส รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี ได้ที่ www.atlasrenewableenergy.com

ติดต่อ: เดฟ แชมเบอร์ส (Dave Chambers) อีเมล: dchambers@headlandconsultancy.com โทร. +44 (0) 75 5788 7405

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1770857/Atlas_Renewable_Energy_1.jpg

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.