เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ปักธงไทยศูนย์กลางการพิมพ์ - บรรจุภัณฑ์เอเชีย ดึง "สมาคมการพิมพ์, บรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก" จัดซูเปอร์บิ๊กอีเว้นท์
ชี้แนวโน้มการพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ไทยปี65 คาดโตอีก5% มูลค่าปี64กว่า1.5แสนล.
- เจาะแนวโน้มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยปี 65 คาดยังโตได้กว่า 5% พร้อมเปิดมูลค่าปี 64 พุ่งแรงกว่า 1.5 แสนล้าน
บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ร่วมกับ สมาคมการพิมพ์ไทย สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย เปิดตัวงาน “Pack Print International 2022 และ Corrutec Asia 2022” งานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์การพิมพ์ และกระดาษลูกฟูกแห่งภูมิภาคเอเชีย” ระหว่างวันที่ 19 – 22 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา เตรียมเปิดพื้นที่แสดงนวัตกรรมสุดล้ำจาก 3 อุตสาหกรรมเพื่อการผลิต การพิมพ์ และการบรรจุภัณฑ์ เพื่อตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการจัดแสดงสินค้าระดับในภูมิภาค พร้อมเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้พัฒนานวัตกรรมด้านการพิมพ์ การบรรจุภัณฑ์ และกระดาษลูกฟูกให้สามารถเดินหน้าต่อได้ในช่วงเปิดประเทศ
นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า ในช่วงที่ประเทศไทย และหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกกำลังมีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงเปิดประเทศเพื่อต้อนรับการท่องเที่ยว การลงทุนเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรม เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ในฐานะผู้จัดงานแสดงสินค้าที่ประสบความสำเร็จสูงสุดแห่งหนึ่งของโลกได้เล็งเห็นถึงศักยภาพ และโอกาสสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตดังกล่าว จึงได้กลับมาร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB สมาคมการพิมพ์ไทย สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และล่าสุดที่ขยายขอบเขตความร่วมมือมาสู่สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย ผลักดัน “Pack Print International 2022 และ Corrutec Asia 2022” งานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์การพิมพ์ และกระดาษลูกฟูกแห่งภูมิภาคเอเชีย” ระหว่างวันที่ 19 – 22 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมการเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตให้กับหลากหลายธุรกิจ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์และยา ฯลฯ พร้อมเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับสาขาอุตสาหกรรมการพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และกระดาษลูกฟูกได้มีโอกาสนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การพิมพ์ 3 มิติ ฯลฯ ซึ่งจะมอบความแตกต่างให้กับงานแสดงสินค้า เสริมความแข็งแกร่งให้ผู้จัดแสดง สามารถต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการจัดแสดงสินค้า หรือการประชุมของอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์แนวทางการผลิตแห่งอนาคตจากกว่า 250 บริษัทชั้นนำที่มาจากประเทศทั่วโลก อาทิ Bobst, Heidelberg, Konica Minolta, Tsukatani, Zund รวมถึงแบรนด์ชั้นนำในประเทศ อาทิ Comprint, Cyber SM, Nationwide ฯลฯ โดยแต่ละบริษัทได้เตรียมนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อการผลิตการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ใหม่ล่าสุด มาเปิดตัวพร้อมกันภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ นวัตกรรมที่ช่วยประหยัดต้นทุนสำหรับองค์กรขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ เทคโนโลยีการพิมพ์เพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวคิด BCG MODEL โดยยังครอบคลุมถึงกลุ่มบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่กำลังเติบโตอย่างมากในขณะนี้ เช่น บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับช่องทางการค้าอีคอมเมิร์ซ บรรจุภัณฑ์ที่สอดรับความใส่ใจในด้านสุขภาพจากภาวะการระบาดของเชื้อโควิด -19
นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นอื่น ๆ ทั้งพื้นที่จับคู่การเจรจาธุรกิจ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานมีโอกาสเชื่อมต่อกับผู้ผลิต หรือพันธมิตรในการต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ ร่วมกันในอนาคต การให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ซึ่งจะมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ และการเตรียมตัวตั้งรับกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่ผู้ประกอบการ นักออกแบบ รวมถึงบุคลากรในภาคการผลิตสามารถนำไปลงมือปฏิบัติกับธุรกิจของตนเอง ผ่านนวัตกรรมการจัดงานไมซ์ (MICE) ภายใต้สนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับทั้งประเทศไทย และเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ที่ต้องเผชิญกับผลกระทบทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาด และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ถึงแม้จะมีปัญหาดังกล่าว ผลคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 นี้ ก็มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวได้ด้วยอัตราขยายตัวเฉลี่ย 3.5 – 4.5% โดยหากอุตสาหกรรมไทยเพิ่มขีดความสามารถด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบดิจิทัลเข้ามาส่งเสริมธุรกิจมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพทางการผลิต หมั่นพัฒนาทักษะการจัดการ และพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยยกระดับให้ภาคส่วนอุตสาหกรรมไทยได้มากขึ้น ซึ่งการจัดงานแสดงสินค้า Pack Print International 2022 และ Corrutec Asia 2022 ในครั้งนี้ จะเป็นสุดยอดต้นแบบการจัดงานแสดงสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรม ที่จะทำให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย รวมถึงสามารถเป็นแนวทางการจัดแสดงให้กลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทย และระดับนานาชาติได้นำไปศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดแสดงต่อไป
ขณะที่ นางสาวกนกพร ดำรงกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB กล่าวว่า TCEB มีแนวทางในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือ การใช้งานไมซ์ ทั้งการประชุม งานแสดงสินค้า งานเทศกาลขนาดใหญ่ เป็นเวทีขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และภาคธุรกิจได้แลกเปลี่ยนความรู้ เจรจาซื้อขายสินค้า และสร้างเครือข่ายเพื่อการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าในอนาคต ซึ่งงาน “Pack Print International 2022” เปรียบเสมือนเวทีนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นงานที่มีพลังสร้างแรงกระเพื่อมให้กับภาคการผลิตของประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้น งานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งงานเป้าหมายที่ทีเส็บให้การสนับสนุน และเมื่อจัดควบคู่กับ “Corrutec Asia 2022” จะเป็นการเพิ่ม Return of Investment” และ “Return of Time” ให้กับผู้ประกอบการและผู้แสดงสินค้าในที่เดียว
และด้วยความร่วมมือไตรภาคีจาก 3 สมาคมหลักอย่าง สมาคมการพิมพ์ไทย สมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย และสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย จึงกล่าวได้ว่า งาน Pack Print International 2022 และ Corrutec Asia 2022 เป็นงานแสดงสินค้าโดยอุตสาหกรรมเพื่ออุตหกรรมอย่างแท้จริง
ด้าน นายมานิตย์ กมลสุวรรณ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ภายใต้นโยบายควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นเรียกได้ว่าเป็น “บรรจุภัณฑ์วิถีใหม่” หรือ The New Normal for Packaging Design ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน ทางสมาคมฯ จึงขอแนะนำทางเลือกใหม่เพื่อความยั่งยืน โดยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากกระดาษเพื่อบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยคุกคามจากธรรมชาติที่นอกเหนือการควบคุม ทั้งยังเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุด โดยมีเป้าหมายในระยะยาวเพื่อให้อุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์โลกสามารถก้าวหน้าดำเนินการพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง
ขณะที่ นายชูศักดิ์ ดีตระกูลวัฒนผล นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย กล่าวว่า จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในปีนี้ นี้คาดการณ์ว่าจะมียอดการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสั่งสินค้าออนไลน์กันมากยิ่งขึ้น โดยบรรจุภัณฑ์กล่องพัสดุที่ใช้บรรจุสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือ “กล่องกระดาษลูกฟูก” ซึ่งภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ ธุรกิจค้าปลีก ตลอดจนถึงกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ และผู้ประกอบการรายย่อยก็ต่างหันมาปรับปรุงพัฒนารูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ ให้ดูมีความน่าสนใจและมีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังใส่ใจถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในยามภาวะวิกฤติอย่างไม่ทอดทิ้ง ซึ่งจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยปี 2564 ที่ผ่านมาได้ผนึกกำลังร่วมกับผู้ประกอบการผู้ผลิตกล่องและแผ่นกระดาษลูกฟูกสนับสนุนเตียงสนามจำนวนกว่า 60,000 เตียง ให้แก่หน่วยงานสาธารณสุขที่ขาดแคลน ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ยังวางแผนต่อยอดด้านความร่วมมือต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมโลก
ด้าน นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า สมาคมการพิมพ์ไทยได้มองเห็นถึงโอกาสการเติบโตในด้านการพิมพ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะในธุรกิจบริการสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าตลาดรวมในปี 2564 ประมาณ 140,000 – 150,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5 % เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากปัจจัยการเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ปริมาณการพิมพ์ ทั้งการพิมพ์บนฉลากและบรรจุภัณฑ์ดิจิทัล มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเทคโนโลยีของการพิมพ์ในปัจจุบัน ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้หลายธุรกิจเริ่มหันมาสนใจเรื่องการพิมพ์ฉลากแบบกำหนดเอง การพิมพ์ฉลากแบบปรับได้ การใส่คิวอาร์โค๊ดบนบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยและเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์ของไทยจะเริ่มมองหาการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ๆ และเครื่องพิมพ์ดิจิทัลเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดอีคอมเมิร์ช
No comments