Header Ads

บริติช เคานซิล และสอวช./บพค. ร่วมกับคณะแพทย์ จุฬาฯ และรพ. จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผนึกกำลังเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกบรรยายหมอไทย

  บริติช เคานซิล และสอวช./บพค. ร่วมกับคณะแพทย์ จุฬาฯ และรพ. จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผนึกกำลังเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกบรรยายหมอไทย พร้อมกับเปิดตัวคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูงแห่งแรกในไทยและอาเซียน   บริติช เคานซิล และสอวช./บพค. ร่วมกับคณะแพทย์ จุฬาฯ และรพ. จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผนึกกำลังเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกบรรยายหมอไทย พร้อมกับเปิดตัวคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูงแห่งแรกในไทยและอาเซียน

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และโดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา (มีประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20) และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574 ดังนั้นปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจึงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นด้วย ความท้าทายนี้เป็นปัญหาในระดับโลก บริติช เคานซิล และสอวช./บพค. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระดมกำลังเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากอังกฤษ บินตรงให้ความรู้หมอไทยในงาน “ประชุมวิชาการก้าวไกล” จัดโดย ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2565 พร้อมกับเปิดตัวคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูงแห่งแรกในไทยและอาเซียน

หลายฝ่ายสนับสนุนวิจัยร่วม “ปัญหาการได้ยิน” รองรับสังคมผู้สูงอายุ

Ms.Helga Stellmacher, Country Director ของ British Council บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือว่า “บริติช เคานซิล ได้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรในหลาย ๆ ด้าน แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ คือความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา British Council และ British Embassy ได้มีส่วนร่วมในการให้การสนับสนุนในการพัฒนาการดูแลคนไข้ การมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนาการวิจัย และความร่วมมือหลักสูตรในการพัฒนาแพทย์เฉพาะทางรุ่นใหม่ ผ่านทุน Research Environment Link และ โครงการ Thai-UK world class university consortium ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างมากที่เห็นความร่วมมือนี้ ก่อให้เกิดงานวิจัยที่ยอดเยี่ยม พร้อมกับการสนับสนุนระบบสาธารณสุขของไทย โดยการต่อยอดงานวิจัยให้เป็นการบริการที่เป็นรูปธรรม พร้อมที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยต่อไป”

ผศ.ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เผยว่า “ทาง บพค. มีหน้าที่หลักในการจัดสรรทุนด้านการพัฒนากำลังคนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนโยบายของรัฐบาล และเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่จะเกิดขึ้น ทางบพค. ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ วิจัยและพัฒนาในหัวข้อ : Public Involvement and Engagement assessment framework to reflect Thai older adult needs: Innovative monitoring and evaluation of social science, humanities, and arts (SHA) research เพื่อมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชากรผู้สูงอายุ ในการสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุในการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมและวิจัยทางการแพทย์ และพัฒนาทีมงานในการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งตลอดโครงการทางผู้วิจัยได้จัดกิจกรรมเพื่อสะท้อนและรับฟังความเห็นของผู้สูงอายุอย่างประสบความสำเร็จรวมทั้งได้รวบรวมองค์ความรู้ที่สำคัญนี้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักวิจัยท่านอื่นในไทยต่อไปอีกด้วย”

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลก มีปณิธานที่จะสร้างคน สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม สร้างเสริมสังคมไทยให้ก้าวไกลในสังคมโลก คณะแพทยศาสตร์เองก็เช่นเดียวกัน เรามีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมและสร้างมาตรฐานระดับนานาชาติ สร้างงานวิจัยที่มีคุณค่า ตลอดจนให้บริการทางการแพทย์และวิชาการเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงวิชาการของชาติและนานาชาติและชี้นำสังคม ซึ่งความร่วมมือในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ และทุนวิจัยร่วมมือพัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุด้านการได้ยินและทรงตัว ในครั้งนี้ของ ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร และ Professor Doris Bamiou ของทางศูนย์การได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว University College London Ear Institute สถาบันหูแห่งมหาวิทยาลัยกรุงลอนดอน และ Royal National Throat Nose Ear Hospital โรงพยาบาลหูคอจมูกแห่งสหราชอาณาจักร นับเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ โดยเฉพาะการพัฒนาการวิจัยและร่วมมือหลักสูตรเพื่อนำไปสู่การเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่เป็นผู้นำในระดับชาติและนานาชาติแล้ว ยังสามารถต่อยอดงานวิจัยให้กลายเป็นงานให้บริการกับบุคคลโดยทั่วไปได้อย่างแท้จริง”

บรรยายหมอไทย จาก “หู” ถึง “สมอง”

ศาสตราจารย์ Doris Bamiou จาก โรงพยาบาลหูคอจมูกแห่งชาติอังกฤษ Royal National Throat Nose Ear Hospital, ศูนย์หูแห่งมหาวิทยาลัยแห่งกรุงลอนดอน UCL Ear Institute ได้เข้าร่วมการบรรยายให้แก่ โสต ศอ นาสิกแพทย์กว่า 300 ชีวิต ในงานประชุม “ประชุมวิชาการก้าวไกล” จัดโดย ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2565 ในหัวข้อ “Hearing Loss - the Highest Modifiable Risk Factors for Dementia” เผยถึงความสำคัญของปัญหาการได้ยิน ซึ่งมีผลต่อสภาวะสมองเสื่อม เพราะหูเป็นอวัยวะรับเสียง แต่สมองเป็นอวัยวะที่ใช้ในการได้ยิน พร้อมกับเน้นย้ำว่าปัญหาการได้ยินและสมองเสื่อมจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญที่ต้องเร่งวิจัยพัฒนาเพื่อสามารถให้บุคลากรสามารถจัดการให้ดีขึ้นได้ในอนาคต

ครั้งแรกในไทยและอาเซียน กับคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง

ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก ประจำคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง (Advance hearing and balance clinic) กล่าวสรุปว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในระดับตติยภูมิที่รับผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะการให้บริการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินและทรงตัว ซึ่งนับเป็นปัญหาที่พบบ่อยและมีความซับซ้อนของโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย อาศัยความรู้ความสามารถของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้บริการการรักษาการได้ยินและทรงตัวขั้นสูงในระดับสมอง พร้อมทั้งตรวจประเมินและแปลผลการได้ยินรวมทั้งการทรงตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการต่อยอดความร่วมมือวิจัยกับนานาประเทศที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้จัดตั้ง “คลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง” (Advance hearing and balance clinic) ภายใต้ศูนย์การได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว Hearing Speech and Balance Centre ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยคลินิกและศูนย์ฯ ตั้งอยู่ที่ ชั้น 8 อาคาร ส.ธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เพราะปัญหาการได้ยินและทรงตัว เป็นปัญหาหลักถึงหนึ่งในสามของผู้สูงอายุทั่วโลก การดูแลรักษาผู้สูงอายุอย่างองค์รวมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คลินิกการได้ยินทรงตัวขั้นสูง เน้นดูแลรักษาผู้ป่วยที่ซับซ้อน ร่วมกับศูนย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่างๆ ในตึกสธ เช่น ศูนย์ผู้สูงอายุ สธ4, ศูนย์สมองเสื่อม สธ15, ศูนย์ประสาทวิทยา สธ11 เป็นต้น ผู้ป่วยเหล่านี้ ต้องการดูแลรักษาขั้นสูงในด้านการได้ยินและทรงตัว ตรวจประเมินด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งที่ศูนย์ของเรา มีเครื่องมือ การตรวจการได้ยินระดับเซลล์ การตรวจการได้ยินและระดับสมอง การตรวจการทรงตัว และการกระตุ้นการได้ยิน รวมถึงการทรงตัวระดับสูง อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้นที่จะพบปัญหาการได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว แต่ในเด็กสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ส่งผลให้เด็กมีภาวะเดินได้ช้า ไม่สามารถทรงตัวได้ และในกลุ่มวัยกลางคนอายุระหว่าง 30-40 ปี ก็สามารถพบปัญหาการได้ยินและการทรงตัวได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ มีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยเพื่อการได้ยินและสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (The Johns Hopkins Cochlear Center for Hearing and Public Health) โรงเรียนแพทย์ด้านหูอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยได้ร่วมมือในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย ที่ได้จัดทำโครงการอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านการได้ยินในผู้สูงอายุ โดยใช้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการจัดอบรมอีกด้วย”

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่:

https://www.facebook.com/ChulaHearingBalance

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.