Header Ads

วิศวะมหิดล - ม.เกียวโต ร่วมจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม ไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5

 


วิศวะมหิดล - ม.เกียวโต ร่วมจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม ไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5


            ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น มิได้มีเพียงด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดด้านวิชาการเทคโนโลยีมายาวนานอีกด้วย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาบุคลากร การศึกษาของประเทศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆนี้ สองมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเซียที่มีชื่อเสียงระดับโลก มหาวิทยาลัยเกียวโต ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 5 (The 5th Kyoto University Mahidol University on-Site Laboratory Workshop) โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ศาสตราจารย์ ยาสุยูกิ โคโนะ (Prof. Yasuyuki Kono) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย รศ.ดร. ธนภัทร์ วานิชานนท์ ผู้บริหารและอาจารย์ นักวิจัยจากทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ร่วมระดมข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในงานวิจัยพัฒนาไทย - ญี่ปุ่น

            รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกนั้น การบรรเทาความรุนแรงและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องใช้พหุศาสตร์ การมีส่วนร่วม และเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะบรรลุผลได้ ดังนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางน้ำ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาความร่วมมือกับ Graduate School of Global Environmental Studies มหาวิทยาลัยเกียวโต มาอย่างต่อเนื่อง และได้รับอนุมัติให้มีการจัดตั้ง ห้องปฏิบัติการวิจัยของ ม.เกียวโต ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Kyoto University On-Site Laboratory at Mahidol University for Educational and Research Collaboration in Environmental Studies) เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการวิจัยพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยทั้งสองมหาวิทยาลัยมีการจัดงานประชุมวิจัยเชิงปฏิบัติการ (On-Site Laboratory Workshop) เป็นประจำทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการจัดงานครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 จึงจัดในรูปแบบออนไลน์ วัตถุประสงค์ของความร่วมมือ เพื่อพัฒนาส่งเสริมพัฒนางานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับสากล สร้างความเข้มแข็ง สนับสนุนทรัพยากรในห้องปฏิบัติการที่จำเป็นต่องานวิจัย และเตรียมความพร้อมในการสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรม รวมไปถึงขยายความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยทางด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเคมี เกษตร และสาธารณสุข

            รศ.ดร.สุวรรณา (กิจผาติบุญตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กิจกรรมช่วงเช้าเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ทางการวิจัย Parallel Research Session แบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1. Environmental Science and Engineering โดย มาซากิ ทากาโอกะ (Prof. Masaki Takaoka) ม.เกียวโต และ รศ.ดร.สุวรรณา (กิจผาติบุญตานนท์ ม.มหิดล 2. Chemical Engineering โดย โนริอากิ ซาโนะ (Prof. Noriaki Sano) ม.เกียวโต และ ผศ.ดร.ศิระ ศรีนิเวศน์ ม.มหิดล 3. Agriculture and Ecosystem โดย มาโมรุ คันซากิ (Prof. Mamoru Kanzaki) ม.เกียวโต และ ผศ.ดร. วัชระ จินตโกวิท ม.มหิดล และ 4. Public Health โดย โคจิ ฮาราดะ (Prof. Kouji Harada) ม.เกียวโต และ ผศ.ดร.อาทิตย์ โพธิ์ศรี ม.มหิดล ทั้งนี้ในช่วงบ่ายเป็นการประชุมเต็มคณะ Plenary Session แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในแนวโน้มและการวิจัยทางวิศวกรรมในการพัฒนาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 

            ส่วนในช่วง Special Session หัวข้อ การบริหารจัดการแหล่งน้ำและน้ำเสียแบบกระจายศูนย์ในชนบท (Decentralized Water and Waste Management Systems in Rural Areas) ประกอบด้วยหัวข้อ 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. การจัดหาแหล่งน้ำ (Water Supply) โดย ชินยะ เอชิโกะ (Prof. Shinya Echigo) ม.เกียวโต และ รศ.ดร.สุวรรณา (กิจผาติบุญตานนท์ ม.มหิดล 2. การบำบัดน้ำเสีย (Wastewater Treatment) โดย ฮิเดโนริ ฮาราดะ (Prof. Hidenori Harada) ม.เกียวโต และ ผศ.ดร.ณวัชร สุรินทร์กุล ม.มหิดล 3. การบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนและการเกษตร (Co-Treatment of Domestic/Agricultural Waste) โดย คาซุยูกิ โอชิตะ (Prof. Kazuyuki Oshita) ม.เกียวโต และ ผศ.ดร.วีรวุฒิ ชัยวัฒน์ ม.มหิดล 4. ระบบบริหารจัดการน้ำเสียและขยะ (Water and Waste Management System) โดย รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา ม.มหิดล

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.