Header Ads

ยูนิเซฟและสธ. เปิดตัวนวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยคุ้มครองเด็กเปราะบางจากความรุนแรง

 นักสังคมสงเคราะห์ในจังหวัดลพบุรีลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัว

ยูนิเซฟและสธ. เปิดตัวนวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยคุ้มครองเด็กเปราะบางจากความรุนแรง 

ระบบสารสนเทศพรีมิโรจะช่วยส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือ

เด็ก ๆ ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที 

นักสังคมสงเคราะห์ในจังหวัดลพบุรีลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวเพื่อสำรวจความต้องการของชุมชนและส่งต่อพวกเขาเข้าสู่บริการ

กรุงเทพ, 10 มีนาคม 2565 – กระทรวงสาธารณสุข โดยเขตสุขภาพที่ 8 และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดตัว “พรีมิโร” ระบบสารสนเทศออนไลน์เพื่อการจัดการรายกรณีสำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง โดยเริ่มใช้ในโรงพยาบาลอุดรธานี เพื่อช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถให้ความช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง การถูกล่วงละเมิด การถูกละเลยทอดทิ้งได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันพรีมิโรได้ถูกนำไปใช้ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถบริหารจัดการเคสเด็กกลุ่มเปราะบางได้สะดวกขึ้น โดยเป็นระบบสารสนเทศออนไลน์ที่มีขั้นตอนที่ชัดเจนในการบันทึกจัดเก็บและบริหารข้อมูลเคส ตั้งแต่การระบุตัวตนของเด็ก การลงทะเบียน การประเมินเคส การวางแผนช่วยเหลือ การส่งต่อ ไปจนถึงการปิดเคส

ทั้งนี้ การจัดการรายกรณีและการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบาง จะประกอบด้วยการทำงานกับเด็กและครอบครัว เพื่อที่จะวางแผน ดำเนินการช่วยเหลือ และติดตามผลการให้บริการ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและมักต้องเชื่อมโยงให้เกิดการบูรณาการกับบริการอื่น ๆ ที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล

สำหรับการนำไปใช้ในโรงพยาบาลอุดรธานี พรีมิโรช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถบันทึกข้อมูลแบบออนไลน์และเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ป่วยและบริการเข้ากับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล โดยในอนาคตเมื่อมีการขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ก็จะสามารถส่งต่อผู้ป่วยและข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลผ่านทางระบบได้  ซึ่งจะช่วยให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกว่าระบบการจัดเก็บเอกสารแบบกระดาษ อีกทั้งยังตอบสนองความต้องการของเด็กได้อย่างตรงประเด็นและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับการคุ้มครองและครอบครัวของเด็กเองก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

การมีข้อมูลที่ครบถ้วนและทันต่อสถานการณ์เกี่ยวกับรูปแบบและปัจจัยความเสี่ยงของการล่วงละเมิดจะช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถทำงานกับครอบครัวเพื่อจับสัญญาณของการใช้ความรุนแรง และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลของเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรงที่ค้นเจอจากการใช้นวัตกรรมอย่างระบบเกราะป้องกันเด็ก หรือ Child Shield system จะถูกส่งต่อไปยังระบบพรีมิโร โดยศูนย์พึ่งได้ภายในโรงพยาบาล จะทำการกำหนดแนวทางในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และติดตามผลไม่ให้ความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น

คยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “การขาดแคลนนักสังคมสงเคราะห์และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการใช้งาน ส่งผลให้เด็กจำนวนมากอาจต้องตกหล่นในช่วงการส่งต่อบริการระหว่างหน่วยงาน นี่เป็นสาเหตุให้ยูนิเซฟสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขเปิดตัวระบบสารสนเทศพรีมิโรในจังหวัดอุดรธานี  และเรามีแผนที่จะขยายการใช้งานไปทั่วประเทศในอนาคต เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะไม่มีเด็กคนไหนควรใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

นพ ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ ผู้อำนวยการเขตสุขภาพที่ 8 “กระทรวงสาธารณสุขมีความสนใจที่จะพัฒนางานด้านการคุ้มครองเด็กจากการถูกใช้ความรุนแรง ล่วงละเมิด ละเลย และแสวงประโยชน์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้ระบบสารสนเทศพรีมิโร ที่จะเอื้อให้บริการเกิดความต่อเนื่อง และมีความบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ผ่านกระบวนการจัดการรายกรณี”

นพ ชาญวิทย์ ทระเทพ อดีตผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 8 ผู้ริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟและกระทรวงสาธารณสุข  ในการพัฒนาระบบสารสนเทศพรีมิโร  ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “การนำระบบสารสนเทศมาใช้ในงานคุ้มครองเด็ก นอกจากจะช่วยในการจัดบริการสำหรับเด็กกลุ่มที่ถูกใช้ความรุนแรงแล้ว ยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดในการค้นหาเด็กกลุ่มเสี่ยงและจัดบริการเชิงป้องกันเพื่อดูแลเด็กอย่างครบวงจร รวมทั้งมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ความปกติถัดไป หรือ next normal ที่เป็นผลจากการระบาดของโควิด 19 อีกด้วย”  

ในประเทศไทย ความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย รายงานสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีร้อยละ 58 ต้องเจอกับการลงโทษทางด้านร่างกายหรือจิตใจภายในบ้าน ซึ่งมีเหตุจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบบริการ อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีกเพราะเด็ก ๆ ต้องอยู่กับบ้านและทำให้เข้าถึงความช่วยเหลือได้ยาก

ความรุนแรงนั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กในระยะยาว นอกจากบาดแผลทางร่างกายแล้ว ความรุนแรงยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมอง ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และการเข้าสังคมลดลง อีกทั้งยังทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความกังวล การทำร้ายตัวเอง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ตลอดจนการฆ่าตัวตาย

ประเทศไทยมีนักสังคมสงเคราะห์เพียงแค่ 4 คนต่อประชากร 100,000 คน ดังนั้นการสนับสนุนระบบงานด้านสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทยในบทบาทการจัดการรายกรณีจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน กระทรวงสาธารณสุขและยูนิเซฟมีแผนที่จะขยายการใช้งานระบบสารสนเทศพรีมิโรไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้เด็กที่ต้องประสบกับความรุนแรง การถูกละเมิด หรือการถูกละเลยทอดทิ้ง เข้าถึงความช่วยเหลือที่ครอบคลุม และเหมาะสม ผ่านการจัดการรายกรณีที่มีประสิทธิภาพและยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พัฒนางานด้านการคุ้มครองเด็กในหลากหลายด้าน รวมถึง การจัดตั้งศูนย์พึ่งได้ หรือ One Stop Crisis Centre ในโรงพยาบาลรัฐทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อให้การรักษาและช่วยเหลือเด็กที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงและล่วงละเมิด ยูนิเซฟกำลังดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการจัดการรายกรณีให้เชื่อมโยงศูนย์พึ่งได้และบริการทางสังคมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อาทิ สายด่วน 1300 และบ้านพักเด็กและครอบครัวระดับจังหวัด ทั้งนี้การขยายระบบสารสนเทศพรีมิโรในโรงพยาบาลทั่วประเทศจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้รับการดูและและคุ้มครอง ตลอดจนเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.