Header Ads

รางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด ประจำปี 2566 ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม เผยนักออกแบบไทยทำผลงานโดดเด่น

รางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด ประจำปี 2566 ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม เผยนักออกแบบไทยทำผลงานโดดเด่น

 

ไทเป--25 ตุลาคม 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด (Golden Pin Design Award) และโกลเดน พิน คอนเซปต์ ดีไซน์ อวอร์ด (Golden Pin Concept Design Award) ประจำปี 2566 ได้ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design Award) โดยหลังจากที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นในรอบสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน ในที่สุดเวทีอันทรงเกียรตินี้ก็ได้ผลงานโดดเด่นทั้งสิ้น 72 ผลงานที่เตรียมเข้าชิงรางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด ขณะที่รางวัลโกลเดน พิน คอนเซปต์ ดีไซน์ อวอร์ด มีผลงานที่เข้ารอบชิงรวม 5 ผลงานด้วยกัน โดยผลงานการออกแบบจากฝีมือของผู้เข้าแข่งขันในหลากหลายภูมิภาค อาทิ ไต้หวัน จีน มาเก๊า ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลิทัวเนีย สหรัฐอเมริกา ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เตรียมเข้าร่วมชิงรางวัลเกียรติยศสูงสุดในพิธีประกาศรางวัลซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม ณ กรุงไทเป โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะที่ทำผลงานยอดเยี่ยมในงานนี้

 

นักออกแบบสัญชาติไทยทำผลงานโดดเด่นเป็นอย่างมากในปีนี้ โดยมีผลงานจากคนไทยถึง 30 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบสอง และในจำนวนนี้มี ผลงานที่ผ่านเข้าไปชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมอันเป็นที่ปรารถนาของนักออกแบบทั่วโลก สำหรับสาขาการออกแบบเชิงพื้นที่ (Spatial Design) นั้น โครงการ นานา คอฟฟี่ โรสเตอร์ส บางนา (NANA Coffee Roasters Bangna) โดยบริษัท สถาปนิก ไอดิน จำกัด (IDIN Architects) ถือเป็นผู้ท้าชิงที่แข็งแกร่ง โดยเป็นโครงการพัฒนาคาเฟ่ของแบรนด์กาแฟชื่อดังในกรุงเทพฯ ด้วยการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมภายนอก พื้นที่ภายใน และภูมิทัศน์โดยรอบที่กลมกลืนกันอย่างไร้ที่ติ พร้อมมอบบรรยากาศที่เงียบสงบและร่มรื่น ช่วยกระตุ้นให้ผู้มาเยือนรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการดื่มด่ำกาแฟแก้วโปรด

 

ขณะเดียวกัน โครงการที่เปี่ยมด้วยแนวคิดสุดสร้างสรรค์อย่าง กระชังหอยอ่างศิลา (Angsila Oyster Scaffolding Pavilion) โดยบริษัท แชท อาร์คิเต็คส์ จำกัด (Chat Architects) ก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการพลิกโฉมนี้มีจุดมุ่งหมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจการประมงในชุมชนอ่างศิลา ด้วยการเปลี่ยนกระชังหอยไม้ไผ่แบบดั้งเดิมที่ปักหลักอยู่กลางทะเลให้กลายเป็นศาลาสองชั้นเหนือผิวน้ำ โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับเพาะเลี้ยงหอยนางรม ส่วนด้านบนเป็นศาลาที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับอาหารทะเลพร้อมกินลมชมบรรยากาศสวยงามโดยรอบ ศาลานี้ช่วยสร้างความสดใหม่ให้กับหมู่บ้านชาวประมงเก่าแก่ รวมถึงมอบโอกาสในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เพิ่มเติมอีกในอนาคต ด้านผลงาน โรงแรมอทิตา เดอะฮิดเด้นคอร์ท เชียงแสน บูทิค โฮเทล (Athita Hidden Court Chiang Saen Boutique Hotel) โดยบริษัท สตูดิโอ มิติ จำกัด (Studio Miti) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับวัดโบราณที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมทางศาสนา ก็มีการออกแบบที่สลายช่องว่างระหว่างโครงสร้างแบบเก่าและแบบใหม่ได้อย่างชาญฉลาด โดยมีการเลือกใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้และอิฐ อีกทั้งยังเลือกใช้ช่างฝีมือท้องถิ่น ทำให้การออกแบบนั้นมีการผสมผสานองค์ประกอบร่วมสมัยเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม เกิดเป็นภาพอันงดงามของอดีตและปัจจุบันที่สอดประสานกันอย่างลงตัว ซึ่งเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้โดยไม่ทิ้งความก้าวหน้าของการพัฒนาเมือง

 

นอกจากนั้นยังมีโครงการ “ป่าทำมา” (Patamma) โดยบริษัท อินทิเกรเตท ฟิลด์ จำกัด (Integrated Field) ซึ่งเป็นรีสอร์ตแสนสวยในภาคเหนือที่ให้ความสำคัญกับการปลูกป่าเป็นอย่างมาก สถาปัตยกรรมของที่นี่ถูกผสานเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน โดยมีการออกแบบที่สะท้อนถึงภูมิประเทศของภาคเหนือที่มีความสูงต่ำสลับกันอันเกิดจากกระแสน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำ องค์ประกอบโครงสร้างหลักของวิลล่าและร้านอาหารได้รับแรงบันดาลใจมาจากมรดกทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น โดยเลือกใช้ผนังดินอัดที่ทำมาจากดิน ณ สถานที่นั้นเอง ขณะที่ผลงานศิลปะจัดวาง “ฟิลด์เวิร์ก” (Field Work) จากฝีมือของ ติงส์แมทเทอร์ ดีไซน์ สตูดิโอ (thingsmatter design studio) ที่สร้างขึ้นเพื่อเทศกาลออกแบบ “ถอดรหัสปัตตานี” (Pattani Decoded) ได้มีการจัดวางกระจกที่ปรับได้กว่า 600 บานเพื่อสะท้อนความสวยงามของนาเกลือ และปลุกความรู้สึกภาคภูมิใจในอุตสาหกรรมการผลิตเกลือแบบดั้งเดิมในท้องถิ่นให้กลับคืนมาอีกครั้

 

สำหรับสาขาการออกแบบการสื่อสาร (Communication Design) นั้น โครงการ “กล่องไข่ อโณณา ฟาร์ม (Anona Farm Egg Box) โดยบริษัท สตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) (Starprint Public) ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอย่างสมศักดิ์ศรี โดยเป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความยั่งยืน ด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิลได้ 100% นอกจากนี้ การออกแบบกราฟิกที่สะดุดตายังดูแปลกใหม่และน่าดึงดูดใจ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “กล่องไข่ก็เท่ได้เหมือนกัน”

 

รางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด และโกลเดน พิน คอนเซปต์ ดีไซน์ อวอร์ด ประจำปี 2566 มีการพิจารณาอย่างเข้มงวดทั้งหมดสามรอบด้วยกัน สามารถดูรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

 

สำหรับรายชื่อผู้ชนะรางวัลจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในพิธีมอบรางวัลที่หลายคนตั้งตารอคอย ในวันที่ 1 ธันวาคม ณ กรุงไทเป กรุณาติดตามเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ (www.goldenpin.org.tw/en) และโซเชียลมีเดียเพื่อรับข้อมูลข่าวสารล่าสุด

 

สื่อต่างประเทศสอบถามข้อมูลได้ที่
ทีมงานรางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด
อีเมล: 
press.gpaward@tdri.org.tw

 

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2255924/Thai_design_works_nominated_for_the_Best_Design_Award_of_the_Year.jpg

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.