Header Ads

มูลนิธิคีนันแห่งเอเชียจัดงานเลี้ยงรับรองประจำปีเพื่อฉลองความร่วมมือและสร้างการเปลี่ยนแปลงในปี 2567

 

มูลนิธิคีนันแห่งเอเชียจัดงานเลี้ยงรับรองประจำปีเพื่อฉลองความร่วมมือและสร้างการเปลี่ยนแปลงในปี 2567

มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย (Kenan Foundation Asia) ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองประจำปี เพื่อถอดรหัสความสำเร็จ เป้าหมายในอนาคต และการพัฒนาชุมชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เข้มแข็ง โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ได้รับผลประโยชน์นี้ถึง 70,000 กว่าคน โดยครอบคลุมทั้งเด็ก ผู้หญิง นักการศึกษา ผู้ประกอบการ สมาชิกในชุมชน และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของมูลนิธิในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความมุ่งมั่นในการเติบโตอย่างเข้าถึงคนทุกกลุ่ม

งานเลี้ยงรับรองประจำปีนี้มาในแนวคิด “Partnering For Impact” เพื่อตอกย้ำถึงความทุ่มเทของมูลนิธิคีนันในความร่วมมือระดับภูมิภาค ที่มีส่วนสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ของมูลนิธิในการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน ยกระดับการศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น โครงการประกายฝันปั้นหญิง (WE Inspire) ในปี 2566 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และจัดให้มีการอบรมทักษะทางธุรกิจ ความรู้ทางการเงิน รวมถึงหลักประกันสุขภาพรายย่อยให้กับสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ และสตรีที่มีรายได้น้อยในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม 

โครงการในด้านเยาวชนอย่าง Youth Beyond Borders ก็เป็นโครงการที่ได้รับทุนจาก USAID และ FHI360 เพื่อให้คำปรึกษาแก่เยาวชนที่สนับสนุนสันติภาพทั่วเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมความสามัคคี การไม่แบ่งแยก และความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการข้ามพรมแดนของเยาวชน อีกทั้งยังมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Caterpillar ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ EEC ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มทักษะช่างเทคนิคในการผลิตสมัยใหม่ และ โครงการ Smart Family Life Planning  ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Organon ที่ช่วยให้ผู้หญิงไทยมีความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และการเงิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนงานในโรงงานกว่า 2,400 คน และสมาชิกในชุมชนถึง 10,000 คน

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย ได้กล่าวเปิดงานว่า “หัวใจสำคัญของแนวคิด Partnering For Impact คือความมุ่งมั่นของเราที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่งเสริมการรวมกลุ่มทางสังคมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกทั้งเรายังมุ่งมั่นที่จะมอบศักยภาพให้ผู้คน ผ่านความรู้ เทคโนโลยี และทักษะที่จำเป็น เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน”


ความสำเร็จของมูลนิธิคีนันแห่งเอเชียในปี 2566 ที่ผ่านมานั้น ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากพันธมิตรหลักด้านการศึกษา อาทิ J.P. Morgan, B.Grimm Power Public Company Limited, Boeing, Sumitomo Corporation Thailand Ltd และ UNICEF Thailand ในด้านการส่งเสริมศักยภาพ MSMEs ในภูมิภาคเองก็ได้รับการสนับสนุนจาก Meta, Mercy Corps, PTTGC, Citi Foundation, Diageo Moët Hennessy (ประเทศไทย), JustJobs Network, SME D Bank, EXIM Bank และกองทุนความร่วมมืออาเซียน – เกาหลี อีกทั้งยังมีพันธมิตรอย่าง AVPN ที่ช่วยขับเคลื่อนด้านการพัฒนาทางสังคมอีกด้วย

“ปี 2566 ที่ผ่านมา ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีพันธมิตรที่ร่วมเดินทางไปกับเรา และในปี 2567 นี้ พลังแห่งการร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในชุมชนจะมีบทบาทสำคัญยิ่งกว่าที่เคย เราจะสานต่อความร่วมมืออันดีนี้ เพราะเราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ และในอนาคต เรามุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์เหล่านี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยินดีต้อนรับพันธมิตรใหม่ที่จะเข้าร่วมภารกิจเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่สดใสไปด้วยกัน” คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ แห่งมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย กล่าว

โดยการประชุมคณะกรรมการจัดการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการขยายการดำเนินงานขององค์กรไปนอกประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การเติบโตในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในอีกห้าปีข้างหน้า และมีการเปิดเผยความคิดริเริ่มในการบุกเบิกโครงการใหม่ ๆ  ไม่ว่าจะเป็น MSME Accelerator ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือธุรกิจต่าง ๆ ในการนำแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัลในระดับสากลไปใช้ อีกทั้งยังมีกองทุน Mekong Green Skills Fund ที่มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาการศึกษาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับนักเรียน และการบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เข้ากับระบบการศึกษา มูลนิธิจึงมีความคาดหวังว่าเหล่าพันธมิตรจะร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ไปด้วยกัน

การเดินทางของมูลนิธิคีนันแห่งเอเชียในปี 2567 จะตอกย้ำแนวคิด “Partnering For Impact” ที่จะตระหนักถึงพลังในความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและมีความยั่งยืน เพื่อชุมชนทั่วภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและที่อื่นๆต่อไป

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.