Header Ads

ครั้งแรกของโลก สจล. คิดค้น ‘เครื่องผลิตออกซิเจนการแพทย์กำลังสูง...แบบเคลื่อนที่ได้

 

ครั้งแรกของโลก สจล. คิดค้น ‘เครื่องผลิตออกซิเจนการแพทย์กำลังสูง...แบบเคลื่อนที่ได้’ 

ต้นทุนต่ำ ยกระดับ รพ.ขนาดกลาง-เล็ก เพิ่มอัตรารอดชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ

ตอบรับแนวทางความมั่นคงทางสุขภาพและฮับการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ของไทย ...สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คิดค้นนวัตกรรม ‘เครื่องผลิตออกซิเจนการแพทย์กำลังสูง...แบบเคลื่อนที่ได้’ ต้นทุนต่ำฝีมือคนไทย สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทยโดยคว้ารางวัลเหรียญทองระดับโลกจากงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ เจนีวา 2023 ณ สมาพันธรัฐสวิส และล่าสุดคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) มุ่งเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของคนไทยจากโควิดขั้นวิกฤติและโรคระบบทางเดินหายใจ พร้อมเสริมศักยภาพโรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็กในภูมิภาค สามารถพึ่งพาตนเองได้

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ซ้าย) ผศ. ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์  หน.วิจัย (กลาง)  และ รศ. ดร.คมสัน มาลีสี (ขวา) อธิการบดี สจล.

         รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมี ผศ. ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้คิดค้นนวัตกรรมเป็นครั้งแรกของโลก ‘เครื่องผลิตออกซิเจนการแพทย์กำลังสูง...แบบเคลื่อนที่ได้’ (Mobile High-Flow Oxygen Concentrator) ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นที่น่ายินดีที่ผลงานวิทยาศาสตร์-ชีวการแพทย์ของคนไทยเป็นที่ประจักษ์บนเวทีโลก โดยคว้ารางวัลเหรียญทองระดับโลกจากงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ เจนีวา 2023 และยังได้รับรางวัลงานวิจัยแห่งชาติ ปี 2567 ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จาก วช. ด้วย ตอกย้ำถึงความเป็นเลิศในการเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก ดังวิสัยทัศน์ของ สจล. นวัตกรรมต้นแบบนี้ออกแบบมาเชื่อมต่อตรงกับเครื่องจ่ายออกซิเจนแก่ผู้ป่วยได้ ทั้งแบบอัตราการไหลสูง (High Flow), แบบ Positive Pressure Ventilator รวมถึงเครื่องช่วยหายใจประเภทต่างๆ ในโรงพยาบาล ด้วยประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ จึงตอบโจทย์สำหรับโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็กในภูมิภาค ที่มีจำนวนเตียงน้อย หรืองบประมาณน้อย ยกระดับคุณภาพบริการทางการแพทย์สู่ยุคใหม่และตอบรับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ของไทย ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ดี โดยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของคนไทยจากโรคทางระบบทางเดินหายใจได้อีกมาก และ SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีการบำบัดรักษา 

จากข้อมูลทางการแพทย์ นอกจากโควิดแล้ว ประเทศไทยยังมีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจอีกหลายโรคที่จำเป็นต้องใช้ ‘เครื่องผลิตออกซิเจนการแพทย์กำลังสูง...แบบเคลื่อนที่ได้’ ในการบำบัดรักษาอาการวิกฤติ เช่น โรคไอกรน ที่กำลังระบาดในหลายจังหวัด โรควัณโรคปอด โรคปอดอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเชื้อเรื้อรังของเยื่อหุ้มกระดูก  โลหิตจางเนื่องจากเสียเลือดมาก โรคคาร์บอนมอนนอคไซด์เป็นพิษ / การสำลักควันไฟ รวมถึงอาการกล้ามเนื้อปอดเป็นอัมพาตชั่วคราวจากการติดเชื้อ ‘คลอสทรีเดียม โบทูลินัม’ ที่มักเกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ เช่น หน่อไม้ปี๊บ เป็นต้น โรคกลุ่มนี้มักจะเป็นกับผู้ป่วยต่างจังหวัด ทำให้การเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีระบบอุปกรณ์พร้อมในตัวเมืองเป็นไปได้ล่าช้า ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในช่วงการนำส่งโรงพยาบาล

ผศ. ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์

ผศ. ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องมา และโรคระบบทางเดินหายใจที่เพิ่มสูงขึ้นจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต มลพิษทางอากาศ PM2.5  การประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และโรคระบาด เช่น โรคไอกรนในขณะนี้ ทำให้ความต้องการใช้ออกซิเจนทางการแพทย์พุ่งสูงขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนออกซิเจนสำหรับดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยขั้นวิกฤตที่ไวรัสทำลายเนื้อเยื้อในปอดจนเหลือน้อยลงมาก ไม่สามารถหายใจด้วยตนเองได้ จำเป็นต้องใช้ ‘เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง’ (High-Flow Nasal Cannula) กับระบบออกซิเจนเหลว ซึ่งจะมีใช้กันใน ‘โรงพยาบาลขนาดใหญ่’ ที่มีจำนวนเพียง 20% เท่านั้นที่สามารถลงทุนสร้างระบบในการติดตั้ง ‘ถังเก็บออกซิเจนเหลว’ เดินท่อก๊าซความดันสูง และต้องพึ่งพาบริษัทผู้ผลิตมาส่งออกซิเจนเหลวให้ รวมทั้งต้องจัดตั้ง ‘สถานีทำความเย็นขนาดใหญ่’ ซึ่งใช้พลังงานสูงสำหรับระบบทำความเย็นเพื่อรักษาอุณหภูมิในถังให้ต่ำกว่าจุดเดือดของออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา อุปสรรคของ ‘โรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็ก’ ในหลายภูมิภาคของไทยจำนวนกว่า 700 แห่ง จึงไม่สามารถดูแลรักษา ‘ผู้ป่วยขั้นวิกฤต’ โรคระบบทางเดินหายใจได้ เนื่องจากมีงบการลงทุนน้อย หรือแม้จะมีงบพอแต่จำนวนเตียงน้อยก็สร้างไม่ได้เนื่องจากเอกชนเห็นว่าขาดความคุ้มค่าที่จะติดตั้งระบบออกซิเจนเหลว ดังนั้น นวัตกรรมนี้จึงเป็นทางเลือกสำหรับ รพ.ขนาดกลางและเล็กทดแทนการใช้ระบบออกซิเจนเหลว

ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ประสบความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัย ออกแบบ และผลิตนวัตกรรมต้นแบบ ‘เครื่องผลิตออกซิเจนการแพทย์กำลังสูง...แบบเคลื่อนที่ได้’ (Mobile High-Flow Oxygen Concentrator) ด้วยหลักการเทคโนโลยี ‘การดูดซับสลับความดัน’ (Molecular Sieve) มีระบบเก็บสำรองออกซิเจนภายในเพื่อให้สามารถผลิตออกซิเจนบริสุทธิ์แก่ผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ในอัตราการผลิตและแรงดันที่สูงขึ้นเพียงพอกับการใช้ร่วมกับ ‘เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง’ ในการใช้งาน สามารถเชื่อมต่อสายออกซิเจนบนหัวจ่ายออกซิเจนที่มีมาตรฐานเดียวกับหัวจ่ายออกซิเจนเหลวของโรงพยาบาล  สั่งการผ่านหน้าจอและแสดงผลแบบ Real-Time ได้ทันที ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย เคลื่อนย้ายง่าย ทำงานได้ตลอด 24 ชม. จึงเพิ่มความสะดวกในการใช้งานแก่บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล

เครื่องผลิตออกซิเจน... เคลื่อนที่ได้ ยกระดับ รพ.ขนาดกลาง-เล็ก พึ่งพาตนเอง  รักษาผู้ป่วยวิกฤติในโรคระบบทางเดินหายใจ

จากการใช้งานจริงในโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พบว่า ‘เครื่องผลิตออกซิเจนการแพทย์กำลังสูง...แบบเคลื่อนที่ได้’ มีจุดเด่นในประสิทธิภาพการผลิตออกซิเจนได้ที่ความบริสุทธิ์มากกว่าร้อยละ 85 โดยปริมาตรที่อัตราการไหลมากกว่า 40 ลิตรต่อนาที และที่แรงดันไม่น้อยกว่า 3.7 บรรยากาศ สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกด้วยบุคลากรเพียง 1 คน เพื่อรองรับกับการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลขนาดกลางและโรงพยาบาลขนาดเล็ก และที่สำคัญคือเป็นเครื่องมือช่วยให้บุคคลากรการแพทย์สามารถเพิ่มโอกาสการฟื้นตัวเร็วและการรอดชีวิตแก่ผู้ป่วยมากขึ้น 

รศ. ดร.สมยศ  เกียรติวณิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ประโยชน์ของนวัตกรรมนี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขและสุขภาพที่ดีทั่วไทยด้วยนวัตกรรม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีต้นทุนต่ำ ที่จะสนับสนุนโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดให้สามารถ ‘พึ่งพาตนเองในการผลิตออกซิเจนทางการแพทย์’ ได้เอง ประหยัดการลงทุน ช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์ราคาแพง  ลดปัญหาการขาดแคลนออกซิเจน  ช่วยให้แพทย์และบุคลากรได้ใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในภูมิภาค 


No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.